รีเซต

ทำความรู้จัก "โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ" มีอาการอย่างไรบ้างเช็กเลย!

ทำความรู้จัก "โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ" มีอาการอย่างไรบ้างเช็กเลย!
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2564 ( 18:29 )
93

วันนี้( 17 พ.ย.64) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ หรือ ILD Interstitial lung disease เป็นชื่อทางการแพทย์สำหรับเรียกกลุ่มโรคพบความผิดปกติทางปอด โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ (ILD) เป็นโรคที่มีพยาธิสภาพในเนื้อเยื่อปอดซึ่งอยู่ระหว่างชั้นถุงลมและหลอดเลือดในปอด มีการเปลี่ยนแปลง เกิดมีเซลล์อักเสบ เซลล์มะเร็ง พังผืด น้ำ หรือเลือดสะสมบริเวณดังกล่าว และในบางครั้งก่อให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ภายในปอด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ การแลกเปลี่ยนก๊าซแย่ลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หายใจลำบากกว่าปกติ และมีออกซิเจนในเลือดต่ำ

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรค ILD มักมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อย หรือพบอาการขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลัง รวมทั้งมีอาการไอแห้งเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้เนื้อเยื่อตัวเองอาจพบโรคกลุ่มเนื้อเยื่อปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอาจมีอาการแสดงก่อนหรือหลังมีการพบความผิดปกติทางปอดแล้วก็ได้ อาการของโรคที่แพ้ภูมิตัวเองนั้นจะปวดตามข้อ ข้อติดขยับลำบากเกินหนึ่งชั่วโมงหลังตื่นนอน ผมร่วงผิดปกติ มีผื่นแพ้แสง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือเปลี่ยนสี เมื่อเจออากาศเย็น ปากแห้ง ตาแห้งผิดปกติ เป็นต้น

กลุ่มโรค ILD สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ 

-กลุ่มแรก เป็นโรคที่เจอบ่อยที่สุดและจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคนี้ออกไปก่อนเสมอ คือ Connective Tissue Disease associalted ILD หรือโรคภูมิแพ้เนื้อเยื่อตัวเอง 

-กลุ่มที่สอง เกิดจากยาที่เคยได้รับในอดีตจนปัจจุบัน ทำให้เกิด Drug induced ILD เช่น ยาหัวใจ amiodarone ยามะเร็ง bleomycin หรือแม้แต่ยารักษาภูมิแพ้ตัวเอง methotrexate rituximab 

-กลุ่มที่สาม เกิดจากการประกอบอาชีพ สารเคมีอันตราย เมื่อสูดหายใจเข้าไปในปอดระยะเวลานาน อาทิ อาชีพที่มีการสัมผัสแร่ใยหิน ในการขุดเจาะเหมืองแร่ กระเบื้อง ซีเมนต์ ผ้าเบรก คลัทช์ ท่อน้ำ เหมืองเจียรหิน คอนกรีต ถ่านหิน รวมถึงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น นก ไก่ หรือเชื้อรา 

-กลุ่มสุดท้าย คือ Idiopathic Interstitial Pneumonia (IIP) คือ ILD ที่ไม่ทราบสาเหตุนั่นเอง ซึ่งแบ่งอีกหลายโรคที่พบบ่อย เช่นIdiopathic Pulmonary Fibrosis (IPF) หรือโรคพังผืดในปอด ที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการรักษาโรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ ในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาถึงสาเหตุของโรคร่วมกับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการรับประทานยา การมาพบแพทย์ตามนัด รวมทั้งต้องหมั่นสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที ผู้ป่วยไม่ควรปรับยา หรือหยุดยาเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกกายภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพปอด 

โดยผู้ป่วยควรรู้วิธีการออกกำลังกายและฝึกหายใจที่ถูกต้อง เพื่อลดอาการเหนื่อย ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และต้องควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน เพราะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจได้


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง