รีเซต

นักวิชาการเตือน รบ. เร่งดับไฟ‘ของแพง’ ก่อนลามเก้าอี้ร้อน

นักวิชาการเตือน รบ. เร่งดับไฟ‘ของแพง’ ก่อนลามเก้าอี้ร้อน
มติชน
14 มกราคม 2565 ( 09:11 )
93
นักวิชาการเตือน รบ. เร่งดับไฟ‘ของแพง’ ก่อนลามเก้าอี้ร้อน

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการถึงปัญหาราคาสินค้าหลายรายการ อาทิ หมู ไก่ และไข่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน พร้อมเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย และเตือนว่าหากไม่เร่งแก้ไขให้ถูกจุด อาจลามไปเป็นปัญหาการเมือง ส่งผลให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอนได้

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องข้าวของมีราคาแพงขึ้นนั้น จริงๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลก็รายงานตรงกันว่ามีคนจนเพิ่มมากขึ้น ครัวเรือนที่ยากจนก็เพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยก็ต้องดูแลคนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นไปอีก

คนที่แบกรับภาระมากที่สุดคือกลุ่มคนรายได้น้อย เพราะฉะนั้นปัญหานี้สะท้อนให้เห็ว่าค่าแรงและรายได้ของคนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

ปัญหาที่ผมอยากย้ำคือเวลาที่เราบอกว่าข้าวของแพงขึ้นแต่ละคนเดือดร้อนไม่เท่ากัน คนที่มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีรายได้ค่อนข้างคงที่ จะไม่สามารถถ่ายโอนความเสี่ยงของตนเองไปให้คนอื่นได้ ก็จะแบกรับปัญหาเหล่านี้มากกว่าคนในกลุ่มอื่น

อีกด้านหนึ่งคือค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิต การศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทางอะไรต่างๆ เราก็ไม่ได้ถูกครอบคลุมไว้ด้วยสวัสดิการที่ดีนัก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากย้ำคือมันมีผี ที่ถูกสร้างขึ้นมานาน คือผีเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งคนชอบไปพูดกันว่าพอปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นแล้วข้าวต้องจานละ 100 บาทอะไรประมาณนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือเวลาข้าวของแพงขึ้นอย่างราคาหมูเพิ่มขึ้นเป็น 100%

เพราะฉะนั้นวันนี้ถึงเวลาที่เราต้องมาถกเถียงกันแล้วว่าค่าจ้างขั้นต่ำของเราควรจะมีการปรับ รวมถึงเงินเดือนคนที่จบปริญญาตรีต่างๆ เราจะเห็นได้ว่ากำไรส่วนเกินในประเทศนี้ไม่ได้มีการเฉลี่ยมาให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่

ข้อเสนอหลักของผมคือการกลับมามองประเด็นพื้นฐานคือเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ การปรับสวัสดิการพื้นฐานให้ครอบคลุมผู้คนมากขึ้น ส่วนเรื่องการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคานั้นเป็นเรื่องทางเทคนิค ใช้แก้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงเกือบ 10 ปีคือรายได้ของคนไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่พวกเขาได้รับเลย และส่วนเกินของกำไรต่างๆ ไปอยู่ในมือของคนหยิบมือเดียว คนส่วนใหญ่ของประเทศใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน

ผมพูดได้เลยว่าคน 70% ของประเทศนี้ใช้ชีวิตด้วยรายรับและรายจ่ายแบบวันต่อวันมานานมากแล้ว ถึงเวลาที่มันต้องมีการปรับค่าจ้างอะไรต่างๆ ให้มันสมเหตุสมผล ขอยกตัวอย่างไต้หวัน ซึ่งค่าครองชีพใกล้เคียงกับไทยมาก ค่าเงินก็ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือค่าจ้างเฉลี่ยของไต้หวันสูงกว่าเรา 2.5-3 เท่า ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่เกือบ 30,000 บาทต่อเดือน คนที่จบปริญญาจะได้ประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน เห็นชัดเลยว่ารายรับของเราไม่สอดคล้องกับรายจ่าย

การที่สินค้าปรับราคาเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ก็เป็นภาพสะท้อนในการย้ำแผล ผมกังวลว่าปีที่แล้วมีครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้น 100,000 ครอบครัว ในภาวะตอนนี้ที่เศรษฐกิจยังซบเซาและค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอีกเราจะมีครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวในปี 2565 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล

ประเทศไทยเรามีปัญหาข้าวยากหมากแพงหมุนเวียนมา มะนาวแพง หมูแพง ไก่แพง มันวนซ้ำ แต่ในปี 2565 ความไม่ปกติคือมันเกิดขึ้นในสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนเสียรายได้ คนที่เป็นแรงงานอิสระรายได้ลดลงไปกว่าครึ่ง ขณะเดียวกันคนที่อยู่ในระบบการจ้างงานปกติก็สูญเสียงานไป เพราะฉะนั้นที่ของแพงแบบนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายของคนเพิ่มขึ้น 10-20%

ลองคิดดูว่าถ้าคนหนึ่งมีต้นทุนคงที่อยู่เดือนละ 10,000 บาท แต่ค่าอุปโภคบริโภคของเขาที่เพิ่มขึ้นมา 10% เดิมทีถ้าเขาเสมอตัว แต่ถ้าเขาต้องติดลบ 1,000 บาท จะเอามาจากไหน ถ้าไม่ทำงานหนักมากขึ้นก็ต้องไปกู้ไม่ว่าจะเป็นนอกระบบหรือในระบบ

สิ่งเหล่านี้จะเหมือนตอนเกิดวิกฤตโควิดในรอบแรกคือการเกิดแผลเป็น เมื่อคนติดลบในสภาพสังคมที่ย่ำแย่ ถ้าในสภาพสังคมปกติ คนที่มีรายได้ติดลบอาจจะไปหารายได้เพิ่มเติมได้ แต่ถ้าหากเศรษฐกิจย่ำแย่ มันหมายความว่าการติดลบของเขาจะเป็นแผลเป็นที่อยู่นาน ถ้าเราต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นสมมุติ 50,000 บาท ในรอบครึ่งปีเพื่อนำมาจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เงิน 50,000 บาท อาจต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี ถึงจะหมด หรือถ้ายากกว่านั้นคือส่งต่อไปถึงคนรุ่นถัดไป

สิ่งเหล่านี้คือแย่ในระดับบุคคลและครัวเรือน และแน่นอนที่สุดคือ ถ้าผู้ใช้แรงงาน ประชาชน คนรุ่นใหม่มีแผลเป็นตั้งแต่เกิด ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต เขาจะไม่สามารถคิดฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้นได้ และสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งประเทศไทยก็เจอกับปัญหาแบบนี้มา แต่รอบนี้จะแย่กว่าเดิม เป็นภาพที่น่าวิตกมากกว่าทุกปีที่เคยเกิดขึ้น

กรณีที่เกิดจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ตรงนี้ตอบยาก เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลนี้ถูกสั่นคลอนด้วยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทางการเมืองมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่ารัฐบาลใช้วิธีปราบปรามด้วยตำรวจ และคุก อย่างที่เราได้เห็นกันคนรุ่นใหม่วนเวียนอยู่ในห้องขัง มีการดำเนินคดีต่างๆ มากมาย รัฐบาลอาจคิดว่าสามารถควบคุมได้

แต่เมื่อกลายเป็นเรื่องปากท้อง มันไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มเฉพาะแล้ว เพราะทุกคนต้องกินข้าว ความโกรธแค้นจากเรื่องปากท้องมันมีประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศมาอย่างยาวนานว่าผู้คนที่โหยหิว ป้อมปราการที่สูงขนาดไหนก็ไม่สามารถจะป้องกันได้

ผมอยากส่งสัญญาณถึงรัฐบาลว่าในสถานะตอนนี้สิ่งที่ต้องทำคือการปรับสวัสดิการให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่การสงเคราะห์ และปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างเฉลี่ยของคนให้เพิ่มมากขึ้น มิเช่นนั้นสิ่งเหล่านี้แม้ว่ามันไม่ได้เป็นสมการโดยตรง แต่อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลได้ ถ้าหากไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ดีมากพอ

เป็นสัญญาณอีกครั้งว่าชนชั้นนำในระบบการเมืองไทยจะปรับตัวได้เร็วมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าช้าสิ่งเหล่านี้อาจจะทวีคูณเป็นความรุนแรงมากขึ้น และแน่นอนที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งในประเด็นอื่นๆ ตามมา

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

สินค้าราคาแพง แม้จะไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่รัฐบาลก็ประมาทไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์พวกนี้มันอ่อนไหว ถ้าเดินมาตรการไม่ตรงจุด บริหารไม่มีประสิทธิภาพ ยืดเยื้อ ลามปรามไปภาคอื่นๆ อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสังคมและเสถียรภาพทางการเมืองได้ เพราะเกี่ยวกับเรื่องปากท้องของคนจำนวนมาก และมีบางส่วนก็ไม่พอใจรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลต้องบรรเทาปัญหาให้ลดลงอย่างน้อยที่สุดภายใน 2-3 เดือนนี้

ดูเหมือนปัญหาจะยุ่ง อีรุงตุงนัง จริงๆ แล้วไม่ใช่ จุดเริ่มต้นของปัญหามี 2 เรื่อง เรื่องแรกหมูแพง ขาดแคลน เกิดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้หมูหายไปจากตลาด 30% ราคาก็แพงขึ้น พอแพงคนหันมากินสินค้าทดแทน คือ ไก่ ไข่ ผัก จึงทำให้ของแพงขึ้นตาม เรื่องที่สองราคาพลังงานและแก๊สหุงต้มที่ราคาแพงขึ้น ทำให้สินค้าต่างๆ ปรับขึ้นตาม เพราะต้นทุนสูงขึ้น เมื่อเจอสองเรื่องนี้ ทำให้คนรู้สึกว่าของแพง

ทางแก้คือรัฐบาลที่บริหารผิดพลาดเรื่องโรค ASF เพราะไม่ได้เพิ่งเกิด เกิดมาหลายปีแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะลามและบานปลาย เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ 1.ยับยั้งการขยายตัวของโรค ถ้าหยุดไม่ได้จะมีสิ่งที่ตามมาอีกมาก 2.ถ้าโรคในหมูยังขยายตัวอีก หากจำเป็นก็ต้องผ่อนผันให้นำเข้าหมู แต่รัฐบาลต้องกำหนดให้ชัดเจน เรื่องสุขอนามัย และจำนวนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยผู้บริโภคชั่วคราว แต่ต้องมีดุลยภาพไม่ใช่ช่วยด้านผู้บริโภคแต่ไปกระทบคนเลี้ยงสุกร เรื่องโรคอหิวาห์หมูต้องคุมให้อยู่ พอมาถึงจุดหนึ่งราคาหมูในตัวของมันเองจะลดลงแน่นอน เพราะคนซื้อลดลง เนื่องจากราคาแพง

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องระวังไม่ให้มีการถือโอกาสขึ้นราคาสินค้าจนเลยเถิด เช่น ไก่ ไข่ ต้องเข้าไปควบคุม ไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงต้องกระจายสินค้าให้ทั่วถึง อย่าลืมว่าของแพงแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

การที่รัฐบาลตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงสิ้นเดือนมีนาคม ช่วยทำให้ต้นทุนไม่บวกเพิ่มในสินค้าอื่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ขอให้รัฐบาลประเมินระยะเวลาการตรึงราคาให้สอดรับกับการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรด้วย อาจเป็น 3 เดือน หรือ 6 เดือน

ปัญหาหมูยังไม่จบลงง่ายๆ ต้องใช้เวลา เพราะยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันโรคได้ สิ่งสำคัญอย่าให้บานปลายไปยังสินค้าตัวอื่นๆ เพราะไม่ได้ขาดตลาด

ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลพลาดไปอย่างหนึ่งคือการวางแผน และเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบไม่คิดว่าจะบานปลายร้ายแรง สิ่งที่รัฐต้องแก้ คือบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ คุมสถานการณ์ ช่วยเหลือ บรรเทาผู้บริโภคเรื่องคุมราคาแก๊ส และช่วยเหลือเกษตรกร ถ้าทำได้แม้สถานการณ์จะยังอึมครึมอยู่ก็จริง แต่ไม่บานปลาย ถ้าคุมไม่ได้จะบานปลาย

ข้อสำคัญคือด้านจิตวิทยาประมาทไม่ได้ ความรู้สึกของคน รัฐบาลต้องเร่งคลี่คลาย ขณะนี้ยังเป็นปัญหาชั่วคราว และอยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ตัวเองในการบริหาร ไม่ให้ปัญหาขยายตัวเพิ่ม

จากราคาหมูหรือสินค้าที่แพงขึ้น ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ที่กระทบชัดเจนคือจิตวิทยาทางสังคม และอาจจะกระทบต่อการเมืองได้ ที่ยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ที่ 1% ถ้ามีปัญหาอาจจะสูงขึ้นบ้าง อาจจะขึ้นเป็น 1% กว่าๆ ดังนั้นเงินเฟ้อจึงยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ขณะที่ปีนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่วนการส่งออกผมว่าจะเติบโต 5%

ที่ได้รับผลกระทบคือการท่องเที่ยวเนื่องจากจีนยังปิดประเทศอยู่ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็น 1 ใน 4ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย ซึ่งปีนี้การท่องเที่ยวโดยรวมยังไงก็ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ยังแย่กว่าเดิมมีเคยนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 40 ล้านคน ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะได้ 5 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วอยู่ที่ 5-6 แสนคนขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศยังมีการกระตุ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากภาครัฐที่มาเป็นปัจจัยหนุน ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาสินค้าแพง กระตุ้นการลงทุนได้ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ 3-4% ถ้าบริหารไม่ดี จะบานปลายไปสู่มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางการเมืองให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอนได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องบริหารให้ดีอย่าผิดพลาด อย่าประมาท ต้องบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีดุลยภาพ

สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นปัญหาชั่วคราว ไม่ให้ตื่นตระหนก เนื่องจากคนมองเป็นปัญหาสะสม

ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ยังมีปัญหาโอมิครอน ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ และมีปัญหาเรื่องการเมืองที่อยู่กับเราตลอด อย่าให้ปัญหาบานปลายสร้างปัญหาที่ 2 ปัญหาที่ 3ให้มันขยายวงกว้างขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระวังที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง