NASA สร้างชิ้นส่วนยานอวกาศด้วย AI ปลอดภัยยิ่งกว่าคนทำเอง !
การสำรวจอวกาศนั้นจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ ยานสำรวจ หรือยานพาหนะรูปแบบอื่น ๆ เพื่อทำงานแทนมนุษย์ที่ไม่ได้ออกภาคสนามด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การสร้างยานพาหนะเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบและแรงงานเป็นจำนวนมาก นาซา (NASA: National Aeronautics and Space Administration) องค์การสำรวจอวกาศชื่อดังของโลกได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ด้วยการปล่อยให้ระบบสร้างชิ้นส่วนขึ้นมาเอง
สิ่งที่นาซา (NASA) ทำก็คือการพัฒนาให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ออกแบบชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่าง ๆ ตามความต้องการและเงื่อนไขของโครงการสำรวจ ซึ่งไรอัน แมคเคลแลนด์ (Ryan McClelland) นักวิศวกรวิจัย (Research Engineer) ของนาซาได้นิยามสิ่งที่เกิดขึ้นว่า
“ชิ้นส่วนพวกนั้นดูประหลาดและไม่เข้าพวกเอาเสียเลย แต่ถ้าแค่มองว่ามันทำงานได้ดีไหม ก็ชัดเลยว่ามันเข้าใช้ได้จริง ๆ”
โดยกระบวนการจะเริ่มจากการให้ผู้เชี่ยวชาญร่างแบบผ่านระบบ CAD (Computer-Assisted Design) ซึ่งคล้ายคลึงกับตัวช่วยในการออกแบบของสถาปนิกและวิศวกรทั่วไปใช้ เพื่อกำหนดความต้องการในโครงการเบื้องต้น ก่อนจะให้ปัญญาประดิษฐ์ทำความเข้าใจและเก็บงานในส่วนการออกแบบที่เหลือ ก่อนส่งแบบไปยังเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อสร้างชิ้นส่วนจริง ๆ ขึ้นมา
แม้ว่ารูปร่างหน้าตาของชิ้นส่วนที่ได้จากปัญญาประดิษฐ์จะไม่มีภาพของการเป็นชิ้นส่วนยานอวกาศใด ๆ แต่เมื่อนักวิจัยทำการทดสอบกลับพบว่าการทนแรงเค้น (Stress Concentration) การทนแรงกดดันจากภายนอกที่อาจทำให้ชิ้นส่วนเปลี่ยนรูปได้นั้นสูงมาก เพราะมีค่าตัวแปรแรงเค้น (Stress factor) ต่ำกว่าชิ้นส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญออกแบบไว้มากกว่า 10 เท่า สำหรับชิ้นงานที่ทำหน้าที่เดียวกัน หรือสรุปได้ว่าชิ้นส่วนจากปัญญาประดิษฐ์มีความทนทานมากกว่านั่นเอง นอกจากนี้ ยังช่วยลดการใช้วัตถุดิบไปได้ถึง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับการออกแบบของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ความสามารถใหม่นี้อาจจะกลายเป็นกุญแจสำคัญของการตั้งอาณานิคมนอกโลกในอนาคต เพราะถ้าหากมนุษย์สามารถทำเหมืองแร่ในพื้นที่นอกโลกได้แล้ว เครื่องมือตัวใหม่ของนาซาก็จะเข้ามาทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศในระดับอุตสาหกรรม โดยอาศัยเพียงแร่ท้องถิ่นในแต่ละดวงดาว ทลายขีดจำกัดทางวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) ได้เป็นอย่างดี
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ NASA