รีเซต

‘บีโอไอ’ จับมือ ‘เอ็นไอเอ’ จัดมหกรรม “BCG Startup Investment Day” หวังเพิ่มช่องให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุน

‘บีโอไอ’ จับมือ ‘เอ็นไอเอ’ จัดมหกรรม “BCG Startup Investment Day” หวังเพิ่มช่องให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุน
มติชน
10 มีนาคม 2565 ( 14:07 )
61
‘บีโอไอ’ จับมือ ‘เอ็นไอเอ’ จัดมหกรรม “BCG Startup Investment Day” หวังเพิ่มช่องให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ จัดงานมหกรรม BCG Startup Investment Day ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนต่างๆ พร้อมทั้งเปิดให้มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

 

“การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่บีโอไอ เอ็นไอเอ และหน่วยงานพันธมิตรกว่า 10 หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนร่วมกันจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดการสนับสนุนด้านเงินทุน มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เอกชน รวมถึงนักลงทุน โดยรวบรวมมาตรการการสนับสนุนไว้ที่เดียว งานครั้งนี้มุ่งเน้นสตาร์ตอัพในกลุ่ม BCG  สอดคล้องกับ BCG Model ที่เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป” นางสาวดวงใจกล่าว

 

นางสาวดวงใจกล่าวว่า กิจการในกลุ่ม BCG ถือว่ามีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2564 ที่ผ่านมา คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ ที่เพิ่มขึ้น 63% ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ

 

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ เอ็นไอเอ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ เอ็นไอเอ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศตามแนวคิด “บีซีจี โมเดล” โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (BCG DeepTech Startup) 3 ด้าน ได้แก่ อาหาร (FoodTech) เกษตร (AgTech) และการแพทย์ (MedTech) ซึ่งเป็นสาขาที่มีโอกาสและศักยภาพการเติบโตสูง แต่ยังมีจำนวนไม่มากนักและต้องใช้ระยะเวลาในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนจากผลงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน 

 

ดังนั้น เอ็นไอเอ จึงได้วางกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ระยะแนวคิด ต้นแบบ ทดลองตลาด ขยายการเติบโต จนกระทั่งมีความสมบูรณ์พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างให้เกิด BCG DeepTech Startup จำนวน 65 ราย ภายใน 3 ปี ซึ่งความร่วมมือกับบีโอไอและพันธมิตรในครั้งนี้ เป็นโอกาสให้สตาร์ตอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ครบในที่เดียว และยังเปิดกว้างสำหรับสตาร์ตอัพไทยและต่างชาติที่มีส่วนในการผลักดัน BCG Startup Ecosystem อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

 

ด้าน นายศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัพในประเทศไทย โดยเฉพาะสตาร์ตอัพรายเล็กที่ขาดเงินทุนเริ่มต้น ปัจจุบันสตาร์ตอัพไทยมีความเข้าใจพื้นฐานการทำธุรกิจเป็นอย่างดี มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง