รีเซต

กต.ย้ำสัมพันธ์ไทย-จีนใกล้ชิด ยังห้ามน.ศ.ทุกชาติเข้าประเทศ แจ้งชื่อเอกอัครราชทูตคนใหม่แล้ว

กต.ย้ำสัมพันธ์ไทย-จีนใกล้ชิด ยังห้ามน.ศ.ทุกชาติเข้าประเทศ แจ้งชื่อเอกอัครราชทูตคนใหม่แล้ว
มติชน
7 มิถุนายน 2564 ( 20:44 )
47
กต.ย้ำสัมพันธ์ไทย-จีนใกล้ชิด ยังห้ามน.ศ.ทุกชาติเข้าประเทศ แจ้งชื่อเอกอัครราชทูตคนใหม่แล้ว

 

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีมีรายงานข่าวพาดพิงการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า ไทยเอนเอียงเข้าข้างสหรัฐจนทำให้จีนไม่พอใจไทยและส่งสัญญาณด้วยการชะลอการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่และไม่อนุญาตให้นักศึกษาไทยเดินทางกลับไปเรียนต่อในจีนดังนี้
 
 
 
ไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุลกับทั้งสหรัฐและจีน ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน มีการเยือนและหารือกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีจีนในการครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2563 การเยือนไทยของมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทยหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19  รวมถึงการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ ไทย – จีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2564
 
 
 
นอกจากนี้ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ 5 เมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศและผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นประธาน และขณะนี้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็กำลังประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – จีน สมัยพิเศษ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 6 ระหว่าง 6-8 เมษายน ที่นครฉงชิ่ง ประเทศจีน และจะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีนอีกด้วย ความสัมพันธ์ไทย – จีน จึงยังใกล้ชิด แน่นแฟ้น โดยมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
 
สำหรับกรณีนักศึกษาไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปเรียนต่อที่จีนได้นั้น นายธานีกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายให้นักศึกษาต่างชาติไม่ว่าจากประเทศใดเข้าจีน ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาจากไทยเท่านั้น โดยได้ให้ใช้การเรียนออนไลน์ไปก่อน กระทรวงการต่างประเทศตระหนักดีถึงความเดือดร้อนและเห็นใจนักศึกษาไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไปศึกษาต่อในจีนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ เช่น นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายที่ต้องฝึกงานและต้องใช้ห้องปฏิบัติการ  กระทรวงการต่างประเทศได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยหารือกับหน่วยงานจีนเพื่อหาทางออก และได้หารือกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ทั้งในการเยือนไทยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และในการหารือทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 และผู้บริหารระดับสูงของทั้งกระทรวงต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยต่าง ๆ ในจีนได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นหารือกับทางการจีนและสถาบันการศึกษาของจีนด้วยในหลายโอกาส
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้แจ้งเอกอัครราชทูตไทยว่า จีนเข้าใจความจำเป็นของนักศึกษาต่างชาติที่ประสงค์จะกลับจีน แต่หน่วยงานจีนยังกังวลต่อความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงบังคับใช้มาตรการดังกล่าวกับนักศึกษาต่างชาติจาก”ทุกประเทศ” โดยกระทรวงต่างประเทศจีนเห็นว่า เมื่อจีนผ่อนคลายมาตรการแล้ว นักศึกษาไทยควรเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีน และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้แจ้งปลัดกระทรวงการต่างประเทศในการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ 5 ว่า ฝ่ายจีนทราบดีว่าฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยหวังว่า เมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เอื้ออำนวย ปัญหาดังกล่าวน่าจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
 
 
 
 
ต่อคำกล่าวว่าจีนเปิดให้นักศึกษาจากประเทศสมาชิกหลายประเทศเดินทางเข้าจีนได้แล้วตั้งแต่ในช่วงที่ไทยยังควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดีนั้น นายธานียืนยันว่า จีนยังไม่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติจากประเทศใดเดินทางเข้าจีน เนื่องจากยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการนำเชื้อโควิด-19 จากต่างประเทศเข้ามาในจีน และเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 เอกอัครราชทูตไทยพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนประจำจีน ได้ปรึกษาหารือในเรื่องนี้เพื่อหาทางผลักดันให้กระทรวงการต่างประเทศจีนช่วยเร่งรัดกับหน่วยงานจีนพิจารณาอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศในอาเซียนเดินทางกลับไปศึกษาต่อในจีนได้โดยเร็ว
 
 
 
 
ส่วนเรื่องการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่ นายหลิ่ว เจี้ยน อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้กลับจีนไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และเมื่อเดือนเมษายน 2564 สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งการพ้นตำแหน่งของเอกอัครราชทูตหลิ่วก่อนครบวาระประจำการเนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนให้ข้อมูลว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเอกอัครราชทูตจีนในต่างประเทศนอกฤดูกาลอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้จีนต้องเริ่มการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมนอกวงรอบการพิจารณาปกติ ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ฝ่ายจีนได้ยื่นหนังสือขอความเห็นชอบการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่แล้ว
 
 
 
 
ต่อกรณีมีการพาดพิงว่าทางการไทยอนุญาตให้สหรัฐสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างมากถึง 9,000 ล้านบาท และรูปแบบโครงสร้างอาคารเป็นความลับอาจมีการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นฐานติดตามความเคลื่อนไหวของจีนแทนสถานกงสุลใหญ่สหรัฐประจำนครเฉิงตู ที่ถูกปิดไปก่อนหน้านี้ นายธานีชี้แจงว่า อาคารสถานกงสุลสหรัฐประจำจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2493 และได้รับการยกฐานะเป็นสถานกงสุลใหญ่ เมื่อปี 2529  ต่อมาในปี 2560 ฝ่ายสหรัฐได้ขอปรับปรุงและเริ่มก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ เนื่องจากที่ทำการเดิมมีพื้นที่คับแคบ ไม่ตอบสนองนโยบาย Under One Roof Policy ของรัฐบาลสหรัฐที่ประสงค์ให้บุคลากรทางกงสุลและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐในเชียงใหม่ทั้งหมดปฏิบัติงานในที่เดียวกัน และเพื่อรองรับการให้บริการกงสุลแก่คนอเมริกัน คนไทยและคนต่างชาติในภาคเหนือ โดยมีกำหนดก่อสร้างเสร็จในปี 2566 ทั้งนี้ เชียงใหม่ยังเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่จีน ญี่ปุ่น และอินเดียด้วย ซึ่งการตั้งสถานกงสุลต่างประเทศในไทยทุกแห่ง รวมทั้งการก่อสร้างที่ทำการอยู่ภายใต้กฎหมายไทย หลักปฏิบัติสากล กฎหมายระหว่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง