3 โบรกฯ คาดแนวโน้มหุ้นไทยภาคบ่าย ปัจจัยที่ต้องติดตาม-แนะกลยุทธ์ลงทุน


#ทันหุ้น-บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแบบเข้มงวดน้อยลง แต่ยังคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงยาวนานถึงกลางปีหน้า สะท้อนจาก Bond Yield10 ปีพุ่งแตะ 4.69% และดัชนีค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเกิน 107 จุด กดดันการไหลกลับของ Fund Flow
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ติดตาม การประชุมครม. อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมครั้งแรกสัปดาห์นี้ และจับตาการแถลงของที่ประชุม ครม. บ่ายนี้เกี่ยวกับค่ารถไฟฟ้า 20 บาท สำหรับสายสีม่วงและสีแดง ปิดท้ายการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการประชุมนัดแรก 9 ต.ค. นี้ น่าจะช่วยประคองการไหลลงของดัชนีหลังแตะใกล้แนวรับรายเดือน 1,435 จุด
ตลาดหุ้นไทยปรับลงหนักเทียบจากปลายเดือนส.ค. -8.6% หลุด Low มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ 1,460 จุด ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแรง Forced Sell แต่หุ้นที่ได้อานิสงค์จากภาคท่องเที่ยวเติบโตอย่าง CENTEL, ERW ,AOT และ CPN ยืนบวกสวนตลาดฯ ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ
ส่วนหุ้นเทคนิคแนะนำเก็งกำไร AP และ SUSCO
บล.เอเอสแอล ระบุว่าดัชนีแกว่งลงแรงต่อเนื่อง หลุดระดับ 1,450 จุดเป็นโมเมนตัมลบ ขานรับปัจจัยลบราคาพลังงานปรับตัวลง , Dollar index แข็งค่า, US bond yield ปรับตัวขึ้น ส่งผลต่อเงินบาทที่อ่อนค่าลงกดดัน fund flow ไหลออก สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นบิ๊กแคป มองกลุ่ม low beta ได้ประโยชน์ระยะสั้นเช่นกลุ่มโรงพยาบาลที่รองรับความผันผวนของตลาด ส่วนภาคบ่ายติดตามที่ประชุมครม. จัดตั้งคกก.ดิจิทัลวอลเล็ต.-คกก., ศึกษาทำประชามติแก้รธน. และนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท
ส่วนปัจจัยต่างประเทศติดตามตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐที่จะเป็นจุดกำหนดทิศทางของ US bond yield
กลยุทธ์การลงทุน หากไม่สามารถกลับมายืน 1,450 จุดได้มั่นคง ยังมีโมเมนตัมขาลง โดยแนวรับอยู่ที่ 1,440-1,425 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,450/1,460 จุด
บล.โกลเบล็ก ระบุว่าดัชนีอ่อนตัวลงต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแตะ 37.11 บาทต่อดอลลาร์ และหน่วยงานต่างๆ ได้ปรับลดจีดีพีไทยลงจากการส่งออกที่ชะลอตัว อีกทั้งความกังวลเรื่องหนี้สินจากการบริโภค ช่วงบ่ายดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,440 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,455 จุด
ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นภาคเช้า ดัชนีปรับตัวลงราว 21 จุด ซึ่งมีแรงขายกระจายตัวในหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมัน กลุ่มค้าปลีก ไอซีที เป็นต้น โดยค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง บริเวณ 37.1 บาทต่อดอลลาร์ เป็นปัจจัยกดดันให้เงินไหลออก ส่งผลให้ดัชนีพักเที่ยงปิดที่ 1,448.46 จุด ลบ 21.00 จุด หรือ 1.43% มีมูลค่าการซื้อขาย 32,984 ล้านบาท