วิจัยพบ 'ออกกำลังกาย' ไม่ช่วยชดเชย 'กินแย่'
ซิดนีย์, 13 ก.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย เปิดเผยว่าการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลดผลกระทบเชิงลบจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายมนุษย์ได้
วารสารบริติช เจอร์นัล ออฟ สปอร์ตส เมดิซีน (British Journal of Sports Medicine) เผยแพร่ผลการศึกษานี้เมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) ซึ่งได้ติดตามผลตรวจสุขภาพของประชากรกลุ่มตัวอย่าง 360,600 คน ที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรตลอดระยะเวลา 11 ปี
ผู้คนที่ออกกำลังกายควบคู่กับรับประทาน "อาหารคุณภาพสูง" ซึ่งประกอบด้วยผักและผลไม้ 5 ส่วนทุกวัน ปลา 2 ส่วนต่อสัปดาห์ และบริโภคเนื้อแดงน้อยลง มีผลตรวจสุขภาพดีที่สุด
เมโลดี ดิง รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้เขียนการศึกษานี้ กล่าวว่าบางคนอาจคิดว่าพวกเขาสามารถชดเชยผลกระทบจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีด้วยการออกกำลังกายในระดับสูง หรือชดเชยผลกระทบจากการออกกำลังกายต่ำด้วยอาหารคุณภาพสูง แต่ผลการศึกษาชี้ว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ผลการศึกษาพบว่าผู้รับประทานอาหารคุณภาพสูงและออกกำลังกายในระดับสูง มีความเสี่ยงเสียชีวิตลดลงร้อยละ 17 จากทุกสาเหตุ ร้อยละ 19 จากโรคหัวใจ และร้อยละ 27 จากการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่าประโยชน์มากมายเหล่านี้สูญหายหรือลดลง หากไม่มีการรับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยดิงกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าสิ่งนี้อาจชี้แนะว่าทั้งการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดีนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
"โดยพื้นฐานแล้วถ้าผู้คนทำสิ่งใดเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหารและกิจกรรมทางกาย ก็เป็นการดีในแง่ของการลดความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่จะเป็นการดีที่สุดที่จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน" ดิงกล่าว
สิ่งนี้ขัดแย้งกับความนิยมควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักอย่างมาก ซึ่งมักมุ่งเน้นการนับแคลอรี่เพื่อเผาผลาญไขมันโดยไม่จำเป็นต้องเสริมอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพ โดยดิงและผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า "คุณไม่สามารถเอาชนะการรับประทานอาหารที่ไม่ดีได้"
ทั้งนี้ ดิงทิ้งท้ายว่าการสื่อสารทางสาธารณสุขและคำแนะนำทางคลินิกควรมุ่งเน้นการส่งเสริมทั้งการออกกำลังกายและแนวทางการบริโภคอาหาร เพื่อส่งเสริมการมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี