รีเซต

ทำไม ค่าเงินเยน ถึงร่วงหนักในรอบ 20 ปี ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ??

ทำไม ค่าเงินเยน ถึงร่วงหนักในรอบ 20 ปี ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ??
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2565 ( 17:16 )
364

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ค่าเงินเยน  อ่อนค่าลงไปอย่างมาก  ทุบสถิติอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี  ทำเอาสายเที่ยวพากันรีบไปแลกตุนเก็บไว้ โดยเฉพาะคนที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวญี่ปุ่นแน่นอนเมื่อเปิดประเทศ 

 
โดยบริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ "ซุปเปอร์ริชสีส้ม"  เปิดเผยว่า ธุรกรรมการแลกซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนเยนต่อราย หรือ ราว ๆ เกือบ 8 หมื่นบาทต่อราย แม้จะไม่สูงเทียบเท่าก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดที่มียอดการแลกซื้อเฉลี่ยราว 1 ล้านเยนต่อราย แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ และที่ผ่านมาก็มีลูกค้าทยอยเข้ามาแลกซื้อเงินเยนเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมาด้วย 


สาเหตุสำคัญก็มาจากสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้านโยบายการเงินตึงตัว และดึงสภาพคล่องกลับ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ทำนโยบายการเงินผ่อนคลายซึ่งสวนทางกัน  หากพิจารณารายละเอียดปัจจัยสำคัญมีอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ 


ภาพจาก : AFP


1. ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetary policy divergence)  

การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เป็นผลให้ยังคงใช้นโยบายการเงินขยายตัวต่อไป ซึ่งสวนทางกับสหรัฐที่ต้องการถอนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ สกัดความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาวะสงคราม ซึ่งต้องใช้หันไปใช้นโยบายการเงินหดตัว ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetay policy divergence) ตรงนี้เองคือ ปัจจัยทำเงินเยนอ่อนค่าลงในรอบ 20 ปี 

ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยจาก 0 - 0.25% สู่ระดับ 0.25 - 0.5% ต่อปี ซึ่งมีการส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยฯ อีก 6 ครั้งในปีนี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่า จะมีการถอนมาตรการ QE หลังจากอัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นแล้ว โดยทาง Goldman Sachs คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี  ซึ่งทิศทางนโยบายดังกล่าว ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจลดลง ความร้อนแรงของเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อจึงชอละตัวลงตาม ขณะเดียวกันก็ทำให้ผลตอบแทนในการฝากเงินและลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐนั้นปรับเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย แต่ในทางตรงข้าม ญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับสหรัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2565 นั้นอยู่เพียงระดับ 0.5% ต่อปี ต่ำกว่าสหรัฐราว 3% ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยังเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำมากที่ระดับ -0.1% และยังคงดำเนินมาตรการทางการเงินอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็ตาม อีกทั้งรัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2565 ด้วยวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย   

ดังนั้น เมื่อนำสถานการณ์ของสหรัฐและญี่ปุ่นมาเทียบกัน ก็พบว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์สหรัฐนั้นเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และมีทิศทางว่าปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก สวนทางกับสินทรัพย์ญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในขาลง  จึงเกิดความต้องการเทขายเงินเยนญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมาก นำมาสู่การไหลออกของเงินทุนสุทธิ (Net Capital Outflow) และยิ่งการไหลออกของเงินทุนสุทธิมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ก็เป็นผลให้เกิดการอ่อนค่าของเงินเยนนั่นเอง 


2. ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น  

ด้วยความแตกต่างของสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น จึงทำให้การดำเนินนโยบายมีทิศทางตรงกันข้ามกัน  โดยสหรัฐ เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กระตุ้นการจับจ่าย หนุนราคาสินค้าและบริการปรับตัวขึ้นสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนธ.ค. 2564 พุ่งทำสถิติในรอบ 40 ปี มาอยู่ที่อัตรา 7% จึงเป็นเหตุให้เฟดส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

ต่อมาในปี 2565 ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเดือนม.ค. และก.พ. ก็ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี มาแตะที่ 7.5% และ 7.9% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบของภาวะสงคราม แต่เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ 

ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อในจะรุนแรงขึ้นอีก จากการถูกซ้ำเติมจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในภาวะสงคราม ทำให้วาระสำคัญของเฟดคือการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ตรงนี้จึงเป็นผลให้สหรัฐมีความจำเป็นต้องถอนสภาพคล่องออกจากระบบด้วยการปรับทิศทางนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี 

ขณะเดียวกัน จากวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2533 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะซบเซายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ หรือที่เรียกกันว่า “Lost Decades” แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในแต่ละสมัยจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า กับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap) และภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ที่ทำให้การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างการเติบโตได้เท่าที่หวัง  และที่สำคัญก็คือ งบประมาณในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีที่มาจากการก่อหนี้สาธารณะ โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 100% ตั้งแต่ปี 2544 และทะลุตัวเลข 200% ต่อจีดีพีในปี 2553 

ซึ่งก็เป็นที่มาว่าทำไม เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะซบเซาเช่นเดิม และยิ่งมาเจอวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมลงไป จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในปี 2564 ที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ 270% ต่อจีดีพี ทำสถิติสูงที่สุดในโลก ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แม้จะสวนทางกับประเทศอื่นๆ 



ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาในข้างต้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเยนร่วงลงหนักในรอบ 20 ปี และยังคงอ่อนค่ามาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวญี่ปุ่นเชื่อว่าน่าจะไม่พลาดใช้จังหวะนี้แลกเงินเยนสะสมกันไว้ เมื่อถึงเวลาญี่ปุ่นพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเมื่อไหร่ ก็เตรียมเก็บกระเป๋าจองตั๋วเครื่องบินได้เลยทันที....


อ้างอิง : บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ ,ธนาคารกรุงเทพ

ภาพประกอบ : AFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง