คลังประเดิมกู้ก้อนแรกสิ้นปี 1 แสนล้านบาท ก่อนทยอยกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
คลังประเดิมกู้ก้อนแรกสิ้นปี 1 แสนล้านบาท ก่อนทยอยกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ดันหนี้สาธารณะชน 60% เร่งทบทวนหั่นแผนก่อหนี้หน่วยงานรัฐ หวั่นทะลุกรอบ
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.คาดว่า จะสามารถกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก้อนแรกภายในสิ้นปี 2564 ที่จำนวน 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2564-2565 ขยายตัวเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 0.75% หรือช่วง 2 ปี ที่ 1.5% ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี สิ้นเดือน ก.ย.2564 เมื่อรวมเงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท ยอดหนี้จะอยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบวินัยทางการคลัง ที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี คาดว่าเมื่อกู้ครบ 5 แสนล้านบาท จะส่งผลให้สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้ต่อจีดีพีอยู่ใกล้ๆ หรือ แตะที่ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งขณะนี้ ทีมงานสบน.อยู่ระหว่างทบทวนแผนก่อนหนี้สาธารณะ ซึ่งมีบางหน่วยงานจองวงเงินก่อหนี้ไว้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้หนี้เพิ่มกว่าความเป็นจริง เมื่อปรับปรุงแผนทั้งหมดแล้วก็จะทราบว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี จะเป็นเท่าใด โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่จองวงเงินไว้แต่ไม่ได้ดำเนินการ ต่อไป สบน.ก็จะเข้มงวด ไม่ให้มีการจองวงเงินก่อหนี้อีก
นางแพตริเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกู้เงินใดใดทั้งสิ้น เนื่อง จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพิ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ สบน.ก็จะทยอยกู้ตามความจำเป็น เช่นเดียวกันกับ พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท และใช้เครื่องมือในการกู้ต่างกัน ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลก็จะดูแลไม่ให้ล้นตลาด โดยยืนยันว่า การบริหารหนี้สาธารณะทำด้วยความรอบคอบ ในภาวะวิกฤตการกู้เงินเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดในการดูแลเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหลา ๆ ประเทศดำเนินการอยู่
“การกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท ยังบริหารจัดการได้ตามกรอบวินัยการคลัง สัดส่วนหนี้อาจจะใกล้ ๆ 60% ต่อจีดีพีบ้าง หรือเลยไปบ้างแต่ถ้าบริหารจัดการได้ เศรษฐกิจดี ตัวเลขหนี้ก็กลับลงมา ขณะที่บริษัทจัดอันดับ ก็ยังคงความน่าเชื่อถือประเทศไทย สะท้อนว่าเรายังรักษาวินัยการคลังได้รอบคอบ รัดกุม”
นางแพตริเซีย กล่าวว่า ยืนยันว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการตรากฎหมายตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ ทุกฉบับ ส่วนการปรับลดวงเงินกู้จาก 7 แสนล้านบาท เหลือ 5 แสนล้านบาท เนื่องจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบไว้ที่ 7 แสนล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาตามความจำเป็น เห็นว่า 5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่เหมาะสม จึงกู้ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวกับว่า กังวลว่าจะก่อหนี้ทะลุ 60% ของจีดีพี
“ตอนนี้เหลือตัวเลขกู้ 5 แสนล้านบาท จากกรอบเดิมที่ 7 แสนล้านบาท ขอให้ลืมตัวเลข 7 แสนล้านบาทไปได้เลย ไม่ได้หมายความว่ายังเหลือกรอบให้กู้อีก 2 แสนล้านบาท คลังจะกู้เฉพาะที่กฎหมายเห็นชอบ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น”
นางแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ภายในปีนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการวินัยการคลัง เพื่อพิจารณากรอบการก่อหนี้ ที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพีซึ่งในปี 2564 ครบรอบ 3 ปี ที่จะต้องกลับมาทบทวน ก็จะมาดูว่าจำเป็นต้องมีการขยายกรอบหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาความต้องการใช้เงินของรัฐในระยะปานกลาง หากต้องการใช้เงินกู้ก็สามารถปรับได้ แต่หากเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัว ก็อาจจะไม่ปรับก็ได้