เศรษฐกิจ: จีดีพีไทยไตรมาส 3 ปรับตัวลดลง 6.4% คาดปีหน้าปรับตัวเป็นบวก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าอย่างมากจากปัจจัยบวกในภาคการอุปโภคของภาครัฐและการลงทุนโดยรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังสูง โดยผู้ว่างงานราว 7.4 แสนคน
สศช. คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีจะอยู่ที่ -6% ดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ -7.5% ส่วนปีหน้าคาดปรับตัวเป็นบวกในกรอบ 3.5 - 4.5% โดยปัจจัยหนุนประกอบด้วย ความสามารถในป้องกันการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ และการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม อาทิ กองถ่ายภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa)
นายอนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. เปิดเผยในการแถลงข่าววันนี้ (16 พ.ย.) ว่าตัวเลขอัตราการเติบโตไตรมาสที่ 3 ลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก สำหรับอัตราการขยายตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีดีพีโดยรวมปรับตัวลดลง 6.7% สำหรับปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือการอุปโภคของภาครัฐที่ขยายตัวถึง 3.4% ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.5% และสาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10.5%
- เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง
- สภาพัฒน์เผยจีดีพีทั้งปี 2562 โต 2.4% ส่วนไตรมาส 4 โตต่ำสุดในรอบ 5 ปี
- เกาะสมุยในวันไร้ต่างชาติ ขาดรายได้ หวังคนไทยช่วยกระตุ้น
การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ -15% ในไตรมาสที่ 3 ติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ -10.7% ส่วนเรื่องสาขาการพักแรมและบริการร้านอาหารในไตรมาส 2 อยู่ที่ -50.2% ในไตรมาสที่ 3 ติดลบลดลงอยู่ที่ -39.6% ที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากมาตรการด้านเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ
"ไตรมาสที่ 2 มีการล็อกดาวน์และต่อมาเริ่มมีการผ่อนคลายทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขยับตัวดีขึ้น ในขณะนี้ แทบจะเปิด 100% ยกเว้นแต่เพียงการนำนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งอยู่ในช่วงพิจารณากันอยู่" เขาระบุ
ส่งออกมีสัญญาณบวกเพราะตลาดหลักฟื้นตัว
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 57,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น -8.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ -17.8% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการขยายตัวของการส่งออกสินค้าบางรายการที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าปริมาณการส่งออก และราคาส่งออกลดลงก็ตาม
สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น มันสำปะหลัง (+27.9%) ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (+10.1%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+ 34.1%) เตาอบ (+71.8%) ตู้เย็น (+21.9%)
กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลงแต่เป็นการลดลงในอัตราที่ช้าลงจากไตรมาสก่อนหน้า เช่น ยางพารา ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 45,294 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ -17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
- กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพราะพิษไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบฯ สะดุด และภัยแล้ง
- นายกฯบอกปีนี้โตได้ 3.3-3.8% แต่ภาคเอกชนมองโคโรนาและ งบฯล่าช้า จะทำให้โตต่ำกว่า 2.5%
- สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาสแรกปี 63 มีคนว่างงานเกือบ 4 แสนคน
นายอนุชากล่าวเสริมว่า ตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร ในไตรมาสที่ 3 มีการปรับตัวดีขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ในส่วนของประเทศอาเซียน แม้จะมีอัตราการเติบโตติดลบอยู่ แต่โดยภาพรวมก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีประเทศที่มีอัตราขยายตัวเป็นบวกเช่นกัน อาทิ ไต้หวัน เวียดนามและจีน
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ สศช. คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอยู่ที่ -3.5% จากการประมาณการณ์ก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์บนสมมติฐานเมื่อในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ -4.5%
ผู้ว่างงานไตรมาส 3 กว่า 7 แสนคน
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่อยู่ที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 ถือว่าดีขึ้น แต่ยังอยู่ระดับสูงกว่าอัตราการว่างงานในช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีอยู่ที่ 1.0% โดย โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 7.4 แสนคน เทียบกับผู้ว่างงานจำนวน 3.9 แสนคนในช่วงเดียวกันในปีก่อน
จากมาตรการล็อกดาวน์ยังส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว (เป็นรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งหมด) 1.16 แสนล้านบาท ลดลง 84.3% โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลง 55.9% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 26.76% ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2
รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม
สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)
ส่วนภาพรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 28.55%