รมต.กัมพูชาตัดพ้อ'ไบเดน' เจ้าบ้านไม่หารือ'ฮุนเซน' ทั้งที่เป็นประธานอาเซียน
รมต.กัมพูชาตัดพ้อ'ไบเดน'-วันที่ 8 พ.ค.รอยเตอร์รายงานว่า นายเกา คิมเฮือน รัฐมนตรีและที่ปรึกษาใกล้ชิดของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกาควรให้เวลามากกว่านี้กับผู้นำอาเซียนระหว่างการประชุมซัมมิตในกรุงวอชิงตันระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.นี้ หากรัฐบาลไบเดนมีความจริงจังเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนในช่วงที่จีนมีอิทธิพลในภูมิภาคอย่างมาก
นายเการะบุอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการวางแผนหารือทวิภาคีระหว่างนายไบเดนและผู้นำอาเซียนเป็นรายบุคคล ซึ่งกัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปีนี้และมีผู้นำสูงสุด 8 คนรวมถึงนายฮุน เซน ที่ถูกคาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมนี้ ขณะที่ฝ่ายสหรัฐไม่มีการเชิญผู้นำเมียนมา เนื่องจากการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี
"ผู้นำอาเซียนควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและเท่าเทียมและได้รับโอกาสที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์" ที่ปรึกษาใกล้ชิดฮุน เซนกล่าว
"ในฐานะประเทศมหาอำนาจ ประเทศเจ้าภาพ สหรัฐอเมริกาควรมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อแขกมากกว่านี้ ผู้นำจากอาเซียนซึ่งกำลังเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเฉพาะนายไบเดนกำลังหารือเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม" ที่ปรึกษานายฮุน เซน กล่าวและว่า ตนเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ปกติสำหรับประธานอาเซียนที่จะหารือกับผู้นำประเทศเจ้าบ้าน ไม่ว่าหารืออย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อให้มีการพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ
อย่างไรก็ตาม นายเกา คิมเฮือน กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งจากนายแพตทริก เมอร์ฟีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกัมพูชาว่า ไม่มีแผนหารือทวิภาคีระหว่างนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และระบุว่า ตนรู้ว่าการประชุมซัมมิตจะยาวนานและเนื่องจากนายไบเดนยุ่ง
ด้านน.ส.เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า นายไบเดนจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำอาเซียนที่ทำเนียบขาวในวันที่ 12 พ.ค.และเข้าร่วมในการประชุมซัมมิตกับผู้นำอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในวันที่ 13 พ.ค.นี้
นับเป็นครั้งแรกที่การประชุมอาเซียนซัมมิตจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน และเป็นครั้งแรกสำหรับนายฮุน เซนที่เยือนทำเนียบขาว ซึ่งนายฮุน เซนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2528 นั้นเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐบ่อยครั้ง กรณีปรามปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและจำคุกฝ่ายค้าน
ที่ปรึกษาใกล้ชิดฮุน เซนระบุอีกว่า กัมพูชา ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับจีนจะไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐและจีน และการลงทุนของสหรัฐในประเทศกัมพูชากำลังเติบโต คล้ายกับที่อาเซียนทำงานร่วมกับทั้งสหรัฐและจีนภายใต้หลักการความครอบคลุม
สำหรับกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกยังอยู่ระหว่างการพัฒนา และขณะนี้สหรัฐเน้นย้ำในปัญหาภายในสหรัฐเองและวิกฤตในยูเครน ส่วนประเด็นอื่นๆที่หยิบยกหารือในซัมมิต รวมถึงประเด็นทะเลจีนใต้ที่ชาติสมาชิกอาเซียนกำลังอ้างสิทธิแข่งกับจีน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายไบเดนมีแนวโน้มกกดดันอาเซียนสนับสนุนสหรัฐมากกว่านี้เพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียทั้งในทางการทูตและทางเศรษฐกิจหลังการบุกยูเครน ซึ่งที่ปรึกษาใกล้ชิดฮุน เซนระบุว่า ผู้นำอาเซียนแต่ละบุคคลมีจุดยืนที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนและจุดยืนร่วมกันจะต้องอยู่บนพื้นฐานฉันทามติ