รีเซต

BAM เป้าซื้อหนี้เสีย1.2หมื่นล. สัญญาณผ่อนชำระกลับสู่ปกติ

BAM เป้าซื้อหนี้เสีย1.2หมื่นล. สัญญาณผ่อนชำระกลับสู่ปกติ
ทันหุ้น
15 กันยายน 2563 ( 08:30 )
65
BAM เป้าซื้อหนี้เสีย1.2หมื่นล. สัญญาณผ่อนชำระกลับสู่ปกติ

ทันหุ้น –สู้โควิด –BAM มองสัญญาณการผ่อนชำระกลับสู่ปกติ ย้ำเป้ารายได้ปีนี้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท ชูรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ผ่านกรมบังคับคดี และตั้งบูธจำหน่ายทรัพย์มาจำหน่ายหนุนช่วงที่เหลือของปีเติบโตเพิ่มขึ้นประเมิน NPL-NPAทยอยเข้าระบบปีหน้า คงเป้าซื้อหนี้เสีย 1-1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมเร่งสรุป DTA กว่า 4.9 พันล้านบาท หวังบุ๊กทันปีนี้

 

นายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนการปฏิบัติงาน สายงานบัญชีและการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ารายได้รวมทั้งปี 2563 ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท หลังเห็นสัญญาณการกลับมาชำระเงินของลูกหนี้ทั้งสินทรัพย์รอการขาย (NPA) และการผ่อนชำระค่างวดของทรัพย์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมถึงลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

 

อีกทั้งยังเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์ที่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ผ่านกรมบังคับคดีกลับมาดำเนินการขายทอดตลาดได้ตามปกติ ควบคู่กับการตั้งบูธจำหน่ายสินทรัพย์รอการขาย (NPAs) ได้ โดยราคาขายทรัพย์จะเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคามาเร่งจำหน่ายทรัพย์ เพราะต้องการกระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียน

 

“หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ รวมถึงหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บริษัทก็เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ลูกหนี้สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ รวมถึงเริ่มมีรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ผ่านกรมบังคับคดี และตั้งบูธนำทรัพย์มาจำหน่าย ซึ่งก็จะไม่มีโปรโมชั่นราคาที่ร้อนแรงเท่าช่วงครึ่งแรกของปี แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่ยังมีส่วนลดระดับหนึ่ง ดังนั้นบริษัทยังคงตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท โดยค่อนข้างมั่นใจว่าหากไม่เป็นไปตามเป้าก็จะลดลงไม่ถึง 20%มาอยู่ประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท โดยปกติแล้วธุรกิจ AMC จะเข้าสู่ช่วงไฮในช่วงครึ่งหลังของทุกปี” นายสันธิษณ์ กล่าว

 

*เร่งปิดดีลขาย NPA ลูกค้ารายใหญ่

 

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาปิดการขายทรัพย์ NPA กับลูกค้ารายใหญ่อยู่ 2-3 ราย คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ภายในปี 2563 นี้ อีกทั้งการจัดโปรโมชั่นวันที่ 9 กันยายน 2563 (9/9) ที่ผ่านมาซึ่งบริษัทคัดทรัพย์คุณภาพมาเสนอขายในราคาที่ดึงดูดใจสามารถขายทรัพย์ได้รวมมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

 

เบื้องต้นบริษัทคาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปี จะมีลูกหนี้ทั้ง NPA และ NPL ที่ยังคงต้องให้ความช่วยเหลือ และมีแนวโน้มชำระล่าช้าประมาณ 307 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ผ่อนชำระ NPA ประมาณ 254 ล้านบาท และจาก NPL ประมาณ 53 ล้านบาท

 

*กำเงินรอซื้อหนี้เติมพอร์ต

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายการซื้อหนี้เสียในปีนี้ที่ราว 10,000-12,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกซื้อหนี้เสียไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท โดยการซื้อหนี้เสียยังคงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกอย่างระมัดระวัง และจะต้องมีความมั่นใจว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมองว่ายังมีโอกาสในการซื้อหนี้เสียอีกมาก เนื่องจาก NPLs ที่เกิดจากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ออกมาสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2564 พร้อมกันนี้คาดการณ์ว่าราคาทรัพย์ที่จะทยอยออกสู่ตลาดนั้นจะมีระดับราคาที่ดีกว่าในช่วงเวลาปกติ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ AMC ที่จะพิจารณาประมูลทรัพย์เข้ามาพัฒนาเพื่อจำหน่ายในราคาที่ดีในอนาคต

 

สำหรับราคาส่วนลดในการพิจารณาซื้อทรัพย์นั้น บริษัทยังคงใช้เกณฑ์พิจารณาอัตราส่วนลด NPL ที่ประมาณ 55% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน และอัตราส่วนลดที่ประมาณ 40% ของราคาทรัพย์ โดยบริษัทมีการประเมินราคาทรัพย์ใหม่ทุก 3 ปี ซึ่งพบว่าราคาทรัพย์เร่งตัวสูงขึ้นตามระยะเวลา

 

*เร่งสรุป DTA ให้ทันปีนี้

 

นายสันธิษณ์ กล่าวถึงการบันทึกสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax Asset : DTA) ซึ่งบริษัทตั้งเป็นบันทึกรายการให้ได้ภายในปี 2563 ว่า ณ ปัจจุบันที่ปรึกษาด้านบัญชีบริษัทตรวจทานแล้วได้พิจารณาตัดรายการราคาประเมินทรัพย์ NPL ออกไป 936 ล้านบาทเนื่องจากไม่ใช่รายการที่เป็นกระแสเงินสด ดังนั้น DTA ที่รอบันทึก ณ ปัจจุบันจะอยู่ที่ 4,935 ล้านบาทจากเดิมที่ 5,871 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งพิจารณาเพื่อให้สามารถบันทึกเป็นรายได้ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563

พร้อมกันนี้คาดการณ์ว่าในไตรมาส 3/2563 บริษัทมีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้ตามราคาประเมินทรัพย์เพียง 85 ล้านบาท จากไตรมาส 2/2563ที่ตั้งไว้เทียบเท่าวงเงินที่ลูกหนี้ค้างชำระที่ 1,277ล้านบาท

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง