รีเซต

กรมปศุสัตว์ จ่อชงครม.ใช้งบกลาง 1,500 ล้านบาท ชดเชยผู้ประกอบการ หลังโรงเรียนปิดทำนมล้น

กรมปศุสัตว์ จ่อชงครม.ใช้งบกลาง 1,500 ล้านบาท ชดเชยผู้ประกอบการ หลังโรงเรียนปิดทำนมล้น
ข่าวสด
11 มกราคม 2564 ( 16:24 )
38
กรมปศุสัตว์ จ่อชงครม.ใช้งบกลาง 1,500 ล้านบาท ชดเชยผู้ประกอบการ หลังโรงเรียนปิดทำนมล้น

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียน 28 จังหวัด ต้องหยุดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ไม่สามารถจัดส่งนมโรงเรียนที่ได้ดำเนินการผลิตไว้แล้วได้

 

อีกทั้ง ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมไม่สามารถขายน้ำนมได้ ส่งผลให้มีปริมาณผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนค้างสต๊อก และใกล้หมดอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นการเร่งด่วน เพื่อขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือหน่วยงานจัดซื้อ ดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที แทนผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรส์ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ ดื่มนมอย่างต่อเนื่อง

 

และขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที แทนผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรส์ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/หน่วยงานจัดซื้อ หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน)

 

นอกจากนี้ จะขอให้มีมาตรการเป็นการเร่งด่วน เพื่อระบายผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที คงเหลือจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 (รอบแรก) ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนชนิดยู เอช ที เอาไว้ทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมมีสต๊อกคงเหลือจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรับน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้

 

ปัญหาดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หรือมิลล์บอร์ด เห็นชอบให้ใช้งบประมาณ งบกลาง 1,500 ล้านบาท ภายใต้โครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม นำมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ม.ค. นี้

 

สำหรับปริมาณน้ำนมดิบที่เป็นโควตาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จำนวนประมาณ 1,050 ตันต่อวัน จัดสรรให้เด็กนักเรียนจำนวน 7 ล้านคน ดังนั้น จึงต้องบริหารจัดการให้เด็กๆ ได้บริโภคน้ำนมที่มีคุณภาพ อย่างต่อเนื่องทั่วถึง เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง เจริญเติบโตเทียบเท่ากับเด็กในต่างประเทศ และที่สำคัญคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องขายน้ำนมได้

 

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในกรณีที่สหกรณ์โคนมภาคใต้และภาคตะวันตก มีปัญหาน้ำนมดิบล้นกว่าวันละ 40 ตัน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดไม่สามารถส่งนมได้ตามปกติ ซึ่งเบื้องต้น อ.ส.ค. จะรับซื้อน้ำนมดิบ ดังกล่าว นำไปผลิตเป็นนมยูเอชที และบริหารจัดการต่อไป

 

“กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายขยายการรับน้ำนมดิบของเกษตรกรโคนมภาคใต้มากขึ้น โดยจะมีการสร้างโรงงานใหม่ สามารถรองรับน้ำนมดิบได้มากถึงวันละ 200 ตัน ซึ่งปัจจุบัน อ.ส.ค. มีข้อจำกัดในปริมาณการสำรองน้ำนมดิบของเกษตรกร และปริมาณการผลิตนมยูเอชที รวมถึงปริมาณกล่องนมที่มีจำกัด จึงต้องร่วมกันหารือ ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีต่อทุกฝ่าย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง