รีเซต

'อนุทิน' เตรียมนำคณะร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

'อนุทิน' เตรียมนำคณะร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
มติชน
26 พฤศจิกายน 2564 ( 14:55 )
39
'อนุทิน' เตรียมนำคณะร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

‘อนุทิน’ เตรียมนำคณะร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ร่วมนานาชาติกำหนดทิศทางสนธิสัญญารับมือโรคระบาดในอนาคต พร้อมหารือ WHO ประเด็นเข้าร่วม BioHub system ระบบป้องกันแพร่เชื้อไวรัสสากล

 

วันที่ 26 พฤศจิกายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดจะนำคณะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ประเด็นหลักการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ นายอนุทิน จะร่วมกับชาติสมาชิก WHO หารือเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางของการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต แลกเปลี่ยนประสบการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ตลอดจนการหารือนอกรอบกับผู้แทนองค์กรต่างๆ

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การร่วมกำหนดทิศทางของการจัดทำสนธิสัญญาฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับผู้นำอีก 25 ประเทศ สนับสนุนแนวคิดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะช่วยให้โลกจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคต มีเป้าหมายหลักของสนธิสัญญาฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับโรคระบาดในอนาคต อาทิ การส่งเสริมรูปแบบความร่วมมือในทุกภาคส่วนให้มีความครอบคลุม  การเสริมสร้างขีดความสามารถทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก และความสามารถในการฟื้นตัวของโลกหากมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากการร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกแล้ว รองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะยังมีกำหนดที่จะหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ WHO ในประเด็นการเข้าร่วม WHO BioHub System ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบสากลในการแบ่งปันเชื้อไวรัส (โดยสมัครใจ) สำหรับการพัฒนามาตรการป้องกันการระบาดของโรคต่างๆ ที่รวดเร็วและในวงกว้าง เพื่อการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาแนวทางการตอบสนองทางการแพทย์อย่างทันท่วงที เช่น การวินิจฉัย การรักษา การพัฒนาวัคซีน

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยการหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ WHO ยังจะครอบคลุมถึงประเด็นที่ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการนำร่องกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและปลักประกันสุขภาพถ้วยหน้า Universal Health and Preparedness Review (UHPR) นอกจากนี้ มีกำหนดหารือกับผู้อำนวยการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในประเด็นที่ในปี 2565 ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme  Coordinating Board : PCB)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง