รีเซต

ตามคาด! ‘มาครง-เลอเปน’ คว้าชัยเลือกตั้ง ปธน.ฝรั่งเศสรอบแรก

ตามคาด! ‘มาครง-เลอเปน’ คว้าชัยเลือกตั้ง ปธน.ฝรั่งเศสรอบแรก
มติชน
11 เมษายน 2565 ( 06:06 )
84

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนางมารี เลอเปน คู่แข่งคนสำคัญซึ่งชูแนวทางชาตินิยมขวาจัด ผ่านเข้ารอบแรกของการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 10 เมษายนตามความคาดหมาย และกลายเป็นผู้สมัครสองคนที่จะเข้าชิงกันแบบตัวต่อตัวในรอบถัดไป

 

การนับคะแนนเสียงผ่านพ้นไปแล้ว 2 ใน 3 คาดว่ามาครงจะเป็นผู้นำในรอบแรกด้วยเสียงสนับสนุนประมาณ 28% ขณะที่เลอเปนน่าจะได้รับเสียงสนับสนุน 23-24% ส่วนผู้สมัครที่มีคะแนนตามมาในลำดับ 3 ได้เสียงสนับสนุนไปราว 20%

 

ผลคะแนนดังกล่าวทำให้มาครงและเลอเปนได้กลายเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบสุดท้ายอีกครั้งเช่นเดียวกับเมื่อปี 2017 ซึ่งในครั้งนั้นทำให้มาครงได้กลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศส แต่ในครั้งนี้ยังไม่แน่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร

 

มาครงกล่าวกับผู้สนับสนุนของเขาโดยเตือนว่าขณะนี้ยังไม่มีอะไรแล้วเสร็จ และการรณรงค์หาเสียงในอีกสองสัปดาห์ถัดไปจนกว่าจะถึงการลงคะแนนเสียงรอบ 2 ในวันที่ 24 เมษายน จะเป็นการชี้ขาดสำหรับประเทศฝรั่งเศสและสำหรับยุโรป

 

มาครงระบุว่า เลอเปนจะทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศที่ชูเรื่องประชานิยมและหวาดกลัวคนต่างชาติ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรา เพราะเขาต้องการเอื้อมมือให้ถึงทุกคนที่ ต้องการทำงานให้ฝรั่งเศส พร้อมให้คำมั่นว่าจะดำเนินโครงการที่ทำให้เกิดความก้าวหน้า เน้นการเปิดกว้างรวมถึงอิสรภาพของฝรั่งเศสและยุโรปที่เราให้การสนับสนุน

 

ขณะที่เลอเปนได้ให้คำมั่นสัญญาว่าเธอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ทั้งในประเทศและต่างประเทศหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก โดยชูประเด็นที่มีความสำคัญในความรู้สึกของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายคน คือราคาของอาหาร ก๊าซ และเครื่องทำความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก

 

เลอเปนยังประกาศว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมและแก้ไขฝรั่งเศสที่ฉีกขาด หลังจากที่ชาวฝรั่งเศสให้เกียรติเธอด้วยการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบที่ 2 พร้อมย้ำกับผู้สนับสนุนว่าเราจะชนะ

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้จะมีผลอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยุโรปพยายามที่จะควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยมาครงสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป (อียู) อย่างแข็งขัน และยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับชาติสมาชิกอียู ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนที่มั่นคงต่อกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขณะที่เลอเปนชูนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับค่าครองชีพในประเทศ

 

อย่างไรก็ดีชัยชนะของเลอเปนทำให้ผู้สมัครที่พ่ายแพ้หลายคนกระตุ้นให้กลุ่มผู้สนับสนุนของเขาหันไปสนับสนุนมาครง เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นหากเลอเปนคว้าชัย ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง