"บิทคอยน์” จะเทียบชั้น “ทองคำ-หุ้น” ขึ้นเป็น "สินทรัพย์ลงทุนหลัก" ของโลก ?

“บิทคอยน์” ที่ใครหลายๆคนจับตาว่านี่คือ “ทองคำแห่งอนาคต” เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ อย่างทองคำ และหุ้น ใครจะมีศักยภาพในการลงทุนเหนือกว่ากัน และบิทคอยน์จะสามารถเทียบชั้นทองคำ และหุ้น ขึ้นมาเป็นสินทรัพย์ลงทุนหลักของโลกได้หรือไม่
จากจุดเริ่มต้นในปี 2009 ที่โลกใบนี้ได้รู้จักกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ชื่อว่า “บิทคอยน์” หรือที่บางคนตั้งชื่อให้มันว่า “เหรียญมหัศจรรย์” บ้างก็บอกว่าเป็น “เหรียญเปลี่ยนชีวิต” เป็นเวลาเพียง 16 ปีเท่านั้นที่สินทรัพย์นี้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในระบบการลงทุนของโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุน้อยมากที่สุดในโลกสินทรัพย์หนึ่ง เมื่อเทียบกับการได้รับการยอบรับจากระบบการเงินโลก
แต่ถึงแม้ว่าบิทคอยน์จะก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างก้าวกระโดด จนหลาย ๆ เสียงให้การยอมรับ และสนับสนุนว่านี่คือ “ทองคำแห่งอนาคต” แต่ก็มีอีกหลายเสียงบอกว่ามันยังเร็วไปที่จะไปนิยายแบบนั้น เพราะเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่น เช่น ทองคำ หรือหุ้น ก็ยังถือว่าบิทคอยน์ยังมีช่องว่างอีกเยอะ และจุดอ่อนในเรื่องของเสถียรภาพก็ยังมีให้เห็น
ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ต่างก็มีความต้องการในการถือครองบิทคอยน์ ซึ่งมีตัวเลขจาก Triple A องค์กรที่เก็บข้อมูลด้านธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลระบุว่ามีประชากรโลกมากกว่า 560 ล้านคนที่ถือครองคริปโทเคอร์เรนซี่
แต่จะถือครองในกลยุทธ์ไหน เป็นสินทรัพย์ลงทุนหลัก เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเพื่อเก็งกำไรนั้น ก็แล้วแต่กลยุทธ์การลงทุนของแต่ละบุคคล แต่ก่อนอื่นเรามาวัดศักยภาพในด้านการลงทุนของทั้งบิทคอยน์ ทองคำ และหุ้น ซึ่งเราจะใช้ S&P500 ในการเปรียบเทียบ เริ่มวัดกันแบบดอลลาร์ต่อดอลลาร์กันก่อนในประเด็นที่บิทคอยน์ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด นั่นก็คือในเรื่องของผลตอบแทน
นับตั้งแต่ปี 2011 บิทคอยน์สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 637.31% แน่นอนว่าทิ้งห่าง S&P500 ที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 11.45% แบบไม่เห็นฝุ่น ในขณะที่ทองคำสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้เพียง 7.14% เท่านั้น ฟังถึงตรงนี้ สาวกบิทคอยน์คงบอกได้ว่ายกแรก “ชนะใสๆ” ไร้คู่แข่ง
แต่เดี๋ยวก่อน ในโลกของการลงทุน เหรียญไม่ได้มีด้านเดียว เมื่อมีผลตอบแทนแล้ว สิ่งที่ย่อมตามมาคู่กันนั่นก็คือ “ความเสี่ยง และบิทคอยน์ก็เป็นเหรียญดิจิทัลที่มีสองด้านเช่นกัน เมื่อดู่ค่า “Standard Deviation” หรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ที่ถูกนิยามว่าคือค่า “ความเสี่ยงของผลตอบแทน” ปรากฎว่าบิทคอยน์มีค่าความเสี่ยงที่สูงถึง 1,472% ในขณะที่ S&P500 มีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 14.32% และทองคำมีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 14.81% ทำให้บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านผลตอบแทนที่สูงที่สุด ยกที่สอง บิทคอยน์เพลี่ยงพล้ำ
มาถึงตรงนี้เหล่านักลงทุนแฟนพันธุ์แท้บิทคอยน์ก็อาจจะยักไหล่แล้วบอกแค่ว่า จะไปสนใจค่าความเสี่ยงทำไมในเมื่อผลตอบแทนหอมหวานขนาดนั้น และราคาของบิทคอยน์ก็อยู่ในระดับที่เติบโตสูงอยู่แล้ว แต่ในด้านของการลงทุนเราจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือในการวัดผลตอบแทนของสิทรัพย์ที่แท้จริง นั่นก็คือ “Risk Adjust Return” หรือ “ผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง” นั่นเอง วิธีการก็ง่าย ๆ นำผลตอบแทนมาหารด้วยความเสี่ยง ก็จะพบว่าบิทคอยน์สามารถสร้างผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงได้เพียง 0.43 ในขณะที่ S&P500 ทำได้ที่ 0.80 และทองคำอยู่ที่ 0.48 กลายเป็นว่าบิทคอยน์ทำผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยความเสี่ยงได้ต่ำกว่าทั้ง S&P500 และ ทองคำ ยกที่สามบิทคอยน์ยังคงตามหลัง
แล้วทำไมกองทุนใหญ่ๆ หรือสถาบันการเงินระดับโลกถึงยังสนใจลงทุนในบิทคอยน์ ก็คงเป็นคำถามต่อมาที่แฟน ๆ บิทคอยน์สงสัย ในเมื่อลงทุนในหุ้นดีที่สุด และทองคำก็ดูดีกว่า ต้องอธิบายแบบนี้ การลงทุนของนักลงทุนสถาบันจะมีการใช้กลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงด้วยการทำ Asset Allocation นั่นหมายความว่านักลงทุนสถาบันต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลายอยู่แล้ว ทั้งหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ทองคำ และรวมถึงบิทคอยน์ด้วย แต่นโยบายการจัดสรรเงินทุนของแต่ละกองทุนก็แตกต่างกันไป
อย่าง Goldman Sachs เองก็ถือครองบิทคอยน์ผ่าน ETF ด้วยมูลค่าราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจจะดูมีมูลค่าสูงมาก แต่เมื่อเทียบกับพอร์ตการลงทุนรวมทั้งหมดจะคิดเป็นเพียงแค่ 0.3% และเมื่อเทียบกับการถือครองทองคำผ่าน SPDR ที่อยู่ที่ 2.98% ของพอร์ตการลงทุุนรวมที่อยู่ที่ 634,402 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าน้อยมาก จนแทบไม่มีนัยยะสำคัญ แต่ถ้าในอนาคตมีการถือครองบิทคอยน์เพิ่มขึ้น ก็อาจจะเป็นสัญญานได้ว่า Goldman Sachs สนในลงทุนบิทคอยน์อย่างจริงจัง
แต่จากตัวเลขที่ฟ้องออกมาก็อาจจะวิเคราะห์ได้ว่าบิทคอยน์เป็นเพียง “สินทรัพย์ทางเลือก” สำหรับการลงทุน เพื่อใช้ปรับพอร์ตการลงทุนเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Portfolio เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งจากสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงเท่านั้น ยกที่สี่ S&P500 เหนือกว่า
แล้วถ้าเราจะใช้บิทคอยน์ในการกระจายความเสี่ยงได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าสามารถทำได้ แต่อาจจะไม่ได้ผลดีมากนัก เพราะเมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว การเคลื่อนไหวของผลตอบแทนโดยรวมของทั้งบิทคอยน์ ทองคำ และ S&P500 ก็ถือว่าอยู่ในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจราคาทองคำจะสะท้อนในเชิงบวกสวนทางกับราคาหุ้นมากกว่าบิทคอยน์ จึงอาจจะบอกได้ว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ใช้กระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าบิทคอยน์ หมดยกที่ห้า ทองคำเหนือกว่าบิทคอยน์
ครบห้ายกไปแล้ว กับการเทียบกันแบบดอลลาร์ต่อดอลลาร์ของทั้งบิทคอยน์ ทองคำ และหุ้น ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าบิทคอยน์โดดเด่นในเรื่องของผลตอบแทนก็จริง แต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงมาก และโดยภาพรวมในมุมของการวิเคราะห์การลงทุน ก็ยังไม่อาจจะบอกใด้ว่าบิทคอยน์นั้นจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญอย่างแท้จริงในระบบการเงิน เหนือกว่าทองคำ หรือหุ้น ในการลงทุนของโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้
และที่สำคัญบิทคอยน์ยังมี “ปริศนา” ที่อาจจะไม่มีวันได้ถูกไข ซึ่งในเรื่องของการลงทุนนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เช่นคำถามถึงผู้ที่คิดค้น และบุกเบิกสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มาจากความชาญฉลาดทางความซับซ้อนของเทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ขั้นสูง “ซาโตชิ นากาโมโตะ” เค้าเป็นใคร หรือเป็นกลุ่มบุคคลใด มีวัตถุประสงค์อะไรซ่อนอยู่หรือไม่ในการคิดค้นบิทคอยน์ขึ้นมา
เค้ายังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกนี้หรือไม่ และเค้าเองถือครองบิทคอยน์อยู่เท่าไหร่ ใครบ้างที่ถือครองบิทคอยน์ในจำนวนมาก ๆ จนสามารถสร้างผลกระทบด้านราคาครั้งใหญ่ได้ และทำไมถึงต้องสร้างกลไกที่ซับซ้อนอย่างเช่นการ “ขุด” เพื่อให้ได้มาซึ่งบิทคอยน์
หรือแม้กระทั่งการควบคุมอุปทาน หรือ Supply ก็คือจำนวนเหรียญให้มีจำกัด กำหนดให้บิทคอยน์มีคุณสมบัติที่เฟ้อ หรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง 50% ทุก ๆ 4 ปี ต่างจากในหลาย ๆ สินทรัพย์ ด้วยการ “Halving” เหรียญที่จะขุดได้ในทุก ๆ 4 ปี จนกว่าเหรียญทั้งหมดจะถูกขุดครบ 21 ล้านเหรียญบิทคอยน์ ที่คาดว่าจะขุดได้ครบตามกลไกที่วางไว้ก็ในปี 2140 หรือในอีก 115 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้คิดค้นเองก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่จนถึงวันนั้น
รวมถึงกลไกต่าง ๆ ที่ถูกวางไว้ในปัจจุบันของบิทคอยน์ จะปรับเปลี่ยนไปได้หรือไม่ในอนาคต ใครจะสามารถมากำหนด หรือพลิกเกมนี้ได้หรือไม่ แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้น เหรียญที่ใครหลายคนคิดว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ กลายเป็นเพียงสิ่งสมมติ รวมถึงคำถามอีกหลายข้อที่ใครหลายคนมีอยู่ในใจ ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบมาจนถึงทุกวันนี้
ความเชื่อมั่น เสเถียรภาพ และสิ่งที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้แน่นอน คงไม่สามารถเป็นคุณสมบัติเดียวกันของสินทรัพย์ หรือค่าเงินหลักที่จะก้าวขึ้นมาเป็นตัวกลางในการ ลงทุน และแลกเปลี่ยนของระบบการเงินโลกได้ แต่ที่แน่ ๆ ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา บิทคอยน์ได้สร้างความเชื่อมั่น และได้สร้างตอบแทนให้กับคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมั่นในอนาคตของบิทคอยน์
รวมถึงดึงดูดคนอีกจำนวนมหาศาลทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน หรืออยากที่จะถือครองบิทคอยน์ ไม่ว่าจะในฐานะอะไรก็ตาม จนภาคธุรกิจ และเอกชนได้เริ่มให้การยอมรับ และให้ความสำคัญกับบิทคอยน์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังจากนี้คงต้องวัดกันที่ความเชื่อมั่นของ “องค์กร” ด้านการเงิน รัฐบาล ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ที่เป็นหัวใจของระบบการเงินโลกทั้งหลาย ว่าจะเชื่อมั่นในบิทคอยน์ได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อไหร่ และนั่นจะเป็นคำตอบว่าบิทคอยน์จะสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลกอย่างแท้จริง