รีเซต

“น่านโมเดล” แก้หนี้นอกระบบ รบ.เปิด “ตลาดนัด” เจรจาทุกฝ่าย

“น่านโมเดล” แก้หนี้นอกระบบ รบ.เปิด “ตลาดนัด” เจรจาทุกฝ่าย
TNN ช่อง16
24 ธันวาคม 2566 ( 22:16 )
52
“น่านโมเดล” แก้หนี้นอกระบบ รบ.เปิด “ตลาดนัด” เจรจาทุกฝ่าย

ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานในสังคมไทย ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการแก้หนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566  ผ่านมาเกือบครบ 1 เดือน เราได้เห็นความคืบหน้าในการไกลี่เกลี่ยประนอมหนี้ในบางพื้นที่แล้ว



ขณะเดียวกัน นายกฯ เศรษฐา ได้ติดตามมาตรการแก้หนี้อย่างเต็มที่ โดยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2566 นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการเจรจาแก้หนี้นอกระบบ พร้อมระบุว่า เหตุผลในการลงพื้นที่ จ.น่านเป็นจังหวัดแรก เพราะเป็นจังหวัดที่รัฐบาลวางไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั้งหมด แม้ จ.น่านเป็นจังหวัดเล็ก แต่ก็มีครบทุกหน่วยงาน พร้อมย้ำว่า “หนี้” เป็นปัญหาที่กัดกร่อน สังคมไทยมายาวนาน  ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไข “ปัญหาหนี้” จะกลายเป็นสารตั้งต้นของปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่ปลอดภัยของประชาชน



นายกรัฐมนตรี ระบุเพิ่มเติมว่า อยากให้หน่วยงานความมั่นคง นั่งหัวโต๊ะและเรียกเจ้าหนี้และลูกหนี้ เข้าเจรจา เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายโดยยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง หากสามารถทำได้ จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดสิ่งดีๆ กับชีวิตของประชาชน ซึ่งหากการแก้หนี้นอกระบบที่จังหวัดน่าน ประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นแพลตฟอร์มให้จังหวัดอื่นๆ เดินหน้าต่อไป พร้อมขอให้กระทรวงมหาดไทยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ดูในเรื่องพื้นที่ว่าให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่า ปัญหายาเสพติด ปัญหาพนันออนไลน์ จะได้รับการแก้ไขเชื่อมโยงด้วย  พร้อมฝากความหวังให้ทุกฝ่ายคืนรอยยิ้มให้กับประชาชนคนไทยทุกคน โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรี ยังเสนอให้ใช้กลไกของกำนัน และผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่ไปติดตาม ซึ่งหากเป็นไปได้อาจจะจัดตลาดนัดแก้หนี้ ที่ศาลากลางจังหวัด จัดเป็นอีเวนต์ ทุกวันที่ 15 หรือวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพูดคุยกัน รวมถึงธนาคารของรัฐ ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี 



ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เจ้าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยัน กระทรวงมหาดไทยพร้อมรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยมีนโยบายชัดเจน ให้ข้าราชการในสังกัดลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากประชาชน เพื่อใหความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมกำชับฝ่ายปกครองให้ขับเคลื่อนการทำงานแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม


สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัดน่าน ตามแนวทางที่กรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทยกำหนด มีผู้ลงทะเบียน ณ วันที่ 22 ธ.ค. 2566  จำนวนลูกหนี้ 563 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 518 ราย มูลหนี้กว่า 33 ล้านบาท ส่วนสาเหตุการเป็นหนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้านอุปโภค ด้านการลงทุน ต่อเติมที่อยู่อาศัย ค่าเทอม และการพนัน  ขณะที่ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของจังหวัดน่าน จากจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียน 563 ราย ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.70 ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการไกล่เกลี่ย 48 ราย และให้รัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 28 ราย รวมผลการดำเนินการช่วยเหลือแล้ว 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.31



จากข้อมูลภาพรวมของกระทรวงมหาดไทย พบว่า การเปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ จนถึงวันที่ 23 ธ.ค.2566 มีมูลหนี้รวมกว่า 6,763 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 107,625 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 93,865 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 13,760 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 78,213 ราย 

ส่วนข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ ขณะนี้ มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 1,566 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 324 ราย รวม มูลหนี้ก่อนไกล่เกลี่ยอยู่ที่ 155 ล้านบาท แต่ภายหลังการไกล่เกลี่ยมูลหนี้ลดลงกว่า 103 ล้านบาท เหลือ 52 ล้านบาท โดยมีจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด คือ จังหวัดนครสวรรค์ 368 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8 ราย ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าการไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จ มากถึงร้อยละ 20 ของจำนวนลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยทั้งหมด



ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความคืบหน้าดังกล่าว ถือเป็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในการแก้หนี้นอกระบบ พร้อมขอให้ประชาชนที่ยังเป็นหนี้นอกระบบ รีบตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการที่ภาครัฐเตรียมพร้อมจะช่วเหลืออย่างเต็มที่เพราะการแก้หนี้นอกระบบ หากได้รับความร่วมจากทุกฝ่าย จะสามารถดึงเม็ดเงินที่หลุดออกไปจากมือประชาชนไหลเข้าไปอยู่ในมือนายทุน กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่า เม็ดเงินนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมีพลัง....





เรียบเรียงโดย ปุลญดา  บัวคณิศร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง