ปลดหนี้ แก้หนี้ เชิญทางนี้ เปิดรายละเอียด “คุณสู้ เราช่วย”เฟส 2 ช่วยคนไทยตั้งตัว เริ่มต้นชีวิตใหม่

เปิดรายละเอียด โครงการ "คุณสู้ เราช่วย " เฟส 2
โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 เริ่มขึ้นแล้ว เป็นโครงการใหญ่ที่หลายหน่วยงานสำคัญของไทยจับมือกัน ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง
ทั้งนี้หลักการต่างๆ ยังยึดหลักสำคัญๆ เช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1 คือ การหวังช่วยแก้หนี้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หวังให้กลับมาตั้งตัวได้ นอกจากนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ถือว่าพิเศษกว่าเดิม เพราะมีการปรับปรุงหรือว่าเพิ่มเงื่อนไขจากของเก่า และยังมีมาตรการใหม่เข้ามาอีกด้วย รวมทั้งสิ้น 3 มาตรการด้วยกัน ได้แก่
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”
* ล่าสุด ค้างชำระ 1 วันก็ร่วมได้
: ช่วยผู้ที่มีหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้รถจักรยานยนต์ และหนี้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก มีการขยายคุณสมบัติลูกหนี้ จากเดิมให้แค่ ลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน แต่ตอนนี้ลูกหนี้ที่เคยค้างชำระแค่ 1 – 30 วัน แล ต้องเคยมีประวัติค้างชำระและเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ก็สามารถร่วมได้
เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้โดนยึดบ้าน รถหรือร้านค้าของตนเอง โดยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลดค่างวดและช่วยลดภาระดอกเบี้ย ค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ส่วนดอกเบี้ยจะถูกตั้งพักไว้เป็นเวลา 3 ปี และหากผู้เข้าร่วมโครงการปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข ดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หรือหมายความว่าไม่ต้องจ่ายเลย
โดยลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ ต้องเป็นหนี้หรือมีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด แยกเป็น
สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน (Home for cash) วงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท
สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 8 แสนบาท
สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 5 หมื่นบาท
สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท
ที่สำคัญหนี้มีอยู่ต้องเป็นการกู้ยืมหรือเป็นสินเชื่อที่ทำสัญญา ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567เท่านั้น
นอกจากนี้หากร่วมโครงการนี้แล้วต้องเข้าใจว่ามีเงื่อนไขรออยู่ เช่น ลูกหนี้จะไม่ก่อหนี้ใหม่ ภายใน 12 เดือนแรกหลังเข้าร่วมมาตรการ และจะถูกรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร ( NCB ) ว่าเข้าร่วมมาตรการ และหากทำไม่ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น ไม่มีเงินจ่ายค่างวดขั้นต่ำตามที่กำหนด จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”
* ล่าสุดขยายเพดานภาระหนี้ให้อีก
: สำหรับผู้ที่มีหนี้เสีย และยอดหนี้ไม่สูง รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้สามารถชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่าย และปิดจบหนี้ทั้งก้อนได้เร็วขึ้น ล่าสุด คือ ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย หรือมีสถานะ NPL เพื่อให้ขยายความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นไปอีก
โดยแบ่งเป็น
สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี
สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี
โดยต้องมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด คือ วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี
สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี
สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี
มาตรการที่ 3 “จ่าย ตัด ต้น”
* มาตรการใหม่
: สำหรับลูกหนี้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีหนี้เสียของสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด) รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ให้ผ่อนชำระ 2% ของเงินต้นคงค้างก่อนเข้ามาตรการ ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) แบบผ่อนปรน ค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดต้นทั้งหมด ในส่วนของดอกเบี้ยจะถูกตั้งพักไว้ 3 ปี และหากปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข ดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกเว้นทั้งหมด
คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ คือ เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล) ยอดหนี้ ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี สัญญาสินเชื่อทำก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
คำถาม : ลงรอบที่แล้วเฟส 1 ไม่ผ่าน รอบนี้จะลงอีกได้หรือไม่?
คำตอบ : จากแบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย น.ส. สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี และจากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 พบว่า มีลูกหนี้เข้าร่ว มโครงการฯ ได้ 6.3 แสนราย เป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท
ส่วนโครงการคุณสู้เราช่วย ระยะที่ 2 มีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการได้ 1.8 ล้านราย จำนวน 2 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้คงค้าง 3.1 แสนล้านบาท โดยลูกหนี้ที่มีความสนใจแก้หนี้ สามารถลงทะเบียนร่วมโครงกา ร ได้ทั้ง ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 หากมีคุณสมบัติตามเงื่อนไข
สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ลงทะเบียนโครงการคุณสู้เราช่วยระยะที่ 1 แล้วถูกปฏิเสธเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข จะสามารถลงทะเบียนโครงการคุณสู้เราช่วยระยะที่ 2 ได้หรือไม่ น.ส. สุวรรณี เปิดเผยว่า หากลูกหนี้ไม่เข้าเงื่อนไขของโครงการระยะที่ 1 แต่เข้าเงื่อนไขของระยะที่ 2 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการใหม่ได้ ยกเว้นกรณีที่ลงทะเบียนระยะที่ 1 แล้วเจ้าหนี้ยังไม่แจ้งผลการพิจารณาในระบบ โดยเจ้าหนี้จะพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้อีกครั้ง โดยครอบคลุมคุณสมบัติทั้ง 2 ระยะ โดยลูกหนี้ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
ขณะที่การเข้าร่วมโครงการจะทำให้ติดประวัติในเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลเสียกับผู้ที่เข้าร่วมโครงการจริงหรือไม่ น.ส. สุวรรณี เปิดเผยว่า การรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร เป็นการให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมโครงการ
หากก่อนเข้าร่วมโครงการติดรหัสเป็น NPL อยู่ แล้วมาเข้าโครงการแล้วสามารถชำระได้ตามเงื่อนไขในงวดแรก ลูกหนี้ก็จะสามารถย้ายรหัสเป็นหนี้ปกติได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้
ประชาชนสามารถดูรายละเอียดและสมัครโครงการได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เว็บไซต์
https://www.bot.or.th/khunsoo
BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213
เข้าร่วมโครงการฯ ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
