รีเซต

อย.มะกัน ไฟเขียวบอลลูนปกป้องลำไส้ตรงจากรังสีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

อย.มะกัน ไฟเขียวบอลลูนปกป้องลำไส้ตรงจากรังสีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2566 ( 13:38 )
95

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) รับรองนวัตกรรมไบโอโพรเทกต์ บอลลูนอิมแพลนต์ ซิสเท็ม (BioProtect Balloon Implant System) หรือบอลลูนป้องกันลำไส้ตรงจากการฉายรังสีในระหว่างการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก


เครื่องมือนี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์จากบริษัทไบโอโพรเทกต์ จำกัด (BioProtect Ltd.) ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของอิสราเอล ถูกใช้งานด้วยการสอดใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยและทำให้บอลลูนพองตัวขึ้น อุปกรณ์จะสร้างช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากและไส้ตรงให้มากขึ้น ทั้งยังสามารถปรับขนาดและตำแหน่งของบอลลูนให้พอดีได้ ซึ่งพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะทําหน้าที่เป็นดั่งเกราะป้องกัน ช่วยให้การรักษาพุ่งเป้าไปที่ต่อมลูกหมากและลดปริมาณรังสีที่เล็ดลอดมายังลำไส้ตรงระหว่างการฉายรังสีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก


การที่ FDA รับรองเครื่องมือบอลลูนนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับสองในหมู่ผู้ชายอเมริกัน โดยข้อมูลจากสมาคมมะเร็งแห่งอเมริการะบุว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมากกว่า 250,000 ราย ในปี 2023


ส่วนการรักษาโรคดังกล่าวสามารถทำได้โดยการฉายรังสีหรือการฝังแร่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงโดยเฉพาะลำไส้ตรงที่ไวต่อการดูดซับรังสี ดังนั้นการมีเครื่องมือที่ช่วยป้องกันที่ไส้ตรง จะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการรักษาโรคดังกล่าวครั้งใหญ่


อิเทย์ บาร์เนีย (Itay Barnea) ซีอีโอของไบโอโพรเทกต์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าบอลลูนของบริษัทมีศักยภาพในการปฏิวัติการปกป้องลำไส้ตรงจากรังสีในระหว่างการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงการป้องกันที่ดีกว่าแต่ยังเป็นการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเพิ่มความเข้มข้นของการฉายรังสีเพื่อรักษาโรคได้อีกด้วย


สอดคล้องกับที่ ดร.เอ็ดเวิร์ด ซอฟเฟ็น (Dr.Edward Soffen) จากศูนย์รังสีวิทยาพรินซ์ตัน (Princeton Radiation Oncology) กล่าวว่า จากการที่เครื่องมือดังกล่าวช่วยเพิ่มช่องว่างระหว่างลำไส้ตรงและต่อมลูกหมาก ทั้งยังสามารถปรับตำแหน่งและมองเห็นได้อย่างชัดเจน


จึงอาจกล่าวได้ว่าบอลลูนนี้สามารถนําไปสู่แนวทางการรักษาด้วยรังสีมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีประสิทธิภาพ แม่นยํา และเป็นมิตรกับผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยพัฒนาผลลัพธ์และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้


ที่มาของข้อมูล

Jpost.com 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง