รีเซต

จีนเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

จีนเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2565 ( 02:08 )
127
จีนเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศจีนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดศาสตราจารย์เผิง เซียนเจือ สถาบันฟิสิกส์วิศวกรรมแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าจีนมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกบริเวณเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ในปี 2028 เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เป็นประเทศผู้นำด้านผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันของโลก


ตามรายงานของสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) การเปิดเผยแผนการดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมออนไลน์ที่จัดโดยเทคเอ็กคอร์ป (Techxcope) โดยศาสตราจารย์เผิง เซียนเจือ นับเป็นบุคคลสำคัญในวงการพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันของจีนและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศจีน


ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี 2022 ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนประสบความสำเร็จสร้างดวงอาทิตย์เทียม EAST ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) สร้างอุณหภูมิมากถึง 70 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลากว่า 17 นาที นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ประเทศจีนในช่วงเวลาดังกล่าว


โรงไฟฟ้าใช้ความร้อนจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion Reactor) ไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันใช้กระบวนการเลียนแบบกระบวนบนดวงอาทิตย์ที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ โดยใช้อะตอมไฮโดรเจนชนกันจนเกิดอะตอมฮีเลียมทำให้เกิดความร้อนมหาศาลที่โดนกักเก็บไว้ด้วยระบบสนามแม่เหล็ก (Magnetic Field) เพื่อป้องกันและควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันให้มีอุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสม 


ปัจจุบันนอกจากประเทศจีนยังมีหลายประเทศกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion Reactor) เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่สามารถพัฒนาเตาปฏิกรณ์ที่สามารถสร้างอุณหภูมิมากกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียสเป็นเวลากว่า 30 วินาที สำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้โครงการ ITER (International Thermonuclear Experimental Reactor) ที่มีประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน เกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ รวม 35 ประเทศ ร่วมกันพัฒนามีกำหนดการเริ่มเดินเครื่องในปี 2025


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com

ที่มาของรูปภาพ caep.ac.cn

ข่าวที่เกี่ยวข้อง