รีเซต

คลายข้อกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ BQ.1.1 - XBB ป่วยรุนแรง ดื้อวัคซีน จริงหรือ?

คลายข้อกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ BQ.1.1 - XBB ป่วยรุนแรง ดื้อวัคซีน จริงหรือ?
TNN ช่อง16
10 ตุลาคม 2565 ( 12:05 )
92
คลายข้อกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ BQ.1.1 - XBB ป่วยรุนแรง ดื้อวัคซีน จริงหรือ?

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เผยข้อมูลการระบาดของโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ใหม่ BQ.1.1 และ XBB ขณะนี้ยังไม่พบ 2 สายพันธุ์ดังกล่าว มีความรุนแรง หรือพบผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการหนักมากกว่าสายพันธุ์ BA.5


วันนี้ (10 ต.ค.65) ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN ช่อง 16 ถึงกรณีที่ต่างประเทศรายงานการตรวจพบโควิด-19 โอมิครอนกลายพันธุ์ใหม่ BQ.1.1 และ XBB ซึ่งพบว่า สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และดื้อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์นั้น

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ตอนนี้พบการระบาดใน 3 ประเทศ คือ ประเทศสิงคโปร์ อินเดีย และบังคลาเทศ ถึงแม้จะพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น แต่อัตราการเจ็บป่วยหนักหรืออัตราการเสียชีวิตต่ำมาก ยังไม่มีนัยยะสำคัญ


หากดูข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อของประเทศสิงคโปร์ วันที่ 9 ต.ค. จะพบว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 477 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 35 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาใน ICU 10 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ข้อมูลในรอบเดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ร้อยละ 99.8 ไม่มีอาการ แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ XBB ยังไม่มีความน่ากังวล 


ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาระบุแล้วว่า โควิดสายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB ยังไม่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตอนนี้ที่ยังแพร่ระบาด ยังคงเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 

ส่วนข้อกังวลที่ว่า สายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ดื้อต่อวัคซีน และดื้อต่อยาแอนติบอดี้สังเคราะห์ นั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ระบุว่า "เป็นข้อมูลที่พบในหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น"


ขณะเดียวกัน ข้อมูลณวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการรายงานเข้าระบบจีเซท พบโควิดสายพันธุ์โอมิครอน กลุ่มเพนตากอน 5 สายพันธุ์ โดยพบในไทย 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ BA.2.75.2 ที่ไทยเคยพบ 4 ราย สายพันธุ์ BN.1 ไทยพบ 3 ราย ส่วนสายพันธุ์ BQ.1.1 BA.2.3.20 และ XBB ยังไม่พบในไทย 

ทั้งนี้ โอมิครอนในกลุ่มเพนตากอน ทั้ง 5 สายพันธุ์ การระบาดของแต่ละสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 200 ถึง 1,000 ราย แต่ละสายพันธุ์มีการเพิ่มจำนวนกว่าเท่าตัวในทุกสัปดาห์

ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดว่าจะระบาดและมาแทนที่ BA.5 ในสิ้นปีนี้หรือต้นปี แต่ย้ำความรุนแรงของโรคและอัตราการเจ็บป่วยหนักขณะนี้ยังไม่พบว่ามากกว่า BA.5

โดยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงมีส่วนสำคัญในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเจ็บป่วยหนักได้

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกของการระบาดจะเป็นการกลายพันธุ์อย่างช้าๆ แต่หลังจากโอมิครอน BA.5 จะพบการกลายพันธุ์มากที่สุด เป็นสายพันธุ์ย่อยต่างๆ


ทั้งนี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์จีโนมทางการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงเฝ้าระวังและถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์จีโนมฯได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมทุก 15 วัน เพื่อเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโดยมีการรายงานเข้าฐานระบบกลางจีเซทต่อไป.

ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง