รีเซต

'โควิด-19' ซ้ำเติม แรงงานหญิง เสียงครวญ 'คนถูกลืม'

'โควิด-19' ซ้ำเติม แรงงานหญิง เสียงครวญ 'คนถูกลืม'
มติชน
21 กรกฎาคม 2563 ( 11:10 )
422
1
'โควิด-19' ซ้ำเติม แรงงานหญิง เสียงครวญ 'คนถูกลืม'

‘โควิด-19’ ซ้ำเติม แรงงานหญิง เสียงครวญ ‘คนถูกลืม’

กลุ่มแรงงาน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 30 ล้านคน ทั้งในและนอกระบบนั้น เปรียบดัง “เครื่องยนต์ใหญ่” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น ล้วนเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งจากบริษัทปิดกิจการ ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับเงินชดเชย รวมไปถึงการเข้าไม่ถึงระบบรับเงินเยียวยา 5 พันบาท

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ได้จัดเวทีอภิปรายออนไลน์เรื่อง “Gender Co-Solutions วิกฤตและทางรอดของแรงงานหญิง” จากการแพร่ระบาดและการรับมือกับภัยโควิด-19 ณ โรงแรมสวนดุสิต เพลส เพื่อรายงานสถานการณ์แรงงานหญิงรวมไปถึงร่วมเสนอข้อเสนอแนะต่างๆ

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เผยว่า “แรงงานนอกระบบ” มีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน เป็น 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ไม่มีรายได้ กลับบ้านก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงินสะสมมากพอที่จะออกเดินทาง และความสามารถในการประคองครอบครัวในช่วงโควิด-19 นั้นอยู่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น และด้วยไม่มีรายได้ประจำ เมื่อไม่มีงานจึงไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว เกิดเป็นความเครียดสะสม ไม่กล้าต่อรองกับนายจ้างเพราะกลัวตกงาน

ความหวังของ “แรงงานนอกระบบ” คือ เงินเยียวยา 5 พันบาท แต่มีจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงระบบเพราะไม่มีเวลา อุปกรณ์ และรู้สึกว่ายาก ส่วนงบประมาณแสนล้านที่จะนำมาใช้กับโครงการช่วยเหลือแรงงาน พบว่าโครงการที่ผ่านการนำเสนอไม่มีโครงการในกรุงเทพมหานครเลย ทั้งๆ ที่โควิดกระทบคนในเมืองหนักมาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า เพราะไม่มีคนยื่นเสนอโครงการไป

สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มแรงงาน เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบแต่จะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้กลับคืนมา เป็นกลุ่มที่ “ถูกลืม”

ส่วน “แรงงานในระบบ” อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เผยว่า จากสถานการณ์ช่วงโควิด-19 พบว่ายังมีแรงงานในระบบ ถูกเลิกจ้าง และลอยแพอยู่ ซึ่งเข้าใจได้ว่าโควิดสร้างผลกระทบทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งแรงงานในระบบจะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท ด้วยมีประกันสังคม แต่นายจ้างบางส่วนก็ได้ใช้ช่องโหว่นี้บังคับให้ลูกจ้าง “เซ็นลาออก” เพื่อให้จ่ายเงินชดเชยในสัดส่วนที่น้อยกว่าการ “เลิกจ้าง”

ทั้งนี้ หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มียอดผู้ตกงานแล้ว 8 แสนกว่าราย และปิดกิจการไปมากกว่า 4.3 พันแห่ง ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องพยุงเรื่องของการ “เลิกจ้าง” โดยให้ประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่น้อยกว่า 75% ของฐานค่าจ้างลูกจ้าง เพื่อประคับประคองให้แรงงานอยู่ต่อไปได้

นอกจากนี้ บางรายไม่ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ด้วยเหตุผลว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” ตรงนี้ไม่ชัดเจน อยากให้รัฐบาลระบุเลยว่าเป็นเหตุแบบไหนถึงจะได้เงินทดแทน เพราะบางครั้งต้องมีการเซ็นยืนยันจากทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่ทำให้ ก็ถูกปัดตกไป

อย่างไรก็ตาม ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สถานการณ์การตกงาน ถูกเลิกจ้าง เป็นปัญหาที่มีอยู่แล้ว แต่โควิดมาเป็นตัวเร่งให้แย่ลง ปัญหาที่แรงงานหญิงต้องเจอคือ เมื่อตั้งครรภ์มักถูกเลิกจ้างทั้งที่กฎหมายห้าม แต่นายจ้างก็จะอ้างผลกระทบโควิด-19 ในการเลิกจ้าง ศูนย์เลี้ยงเด็ก-โรงเรียนปิดทำให้แรงงานที่มีลูกได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจหนักขึ้น จากนโยบายของรัฐยังมองปัญหาเด็กและผู้หญิงมีความสำคัญลำดับท้ายๆ จากแผนเงินกู้ 4 แสนล้าน นอกจากนี้ ผู้หญิงไม่อยากมีลูกเพราะตกงาน ฐานะเศรษฐกิจไม่พร้อม ทำให้อัตราการเกิดลดลง

“ส่วนในแง่การทำงานของรัฐบาลสิ่งสำคัญคือไม่มีการทำงานส่วนร่วม ในเรื่องของอาชีพ กระทรวงแรงงานอาจจะต้องกลับมามองว่าอาชีพที่จะมีทางไปได้ในอนาคตคืออะไร บางอาชีพหายไป และจะส่งเสริมยังไง สโลแกนรัฐบาล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่พอออกนโยบายต่างๆ กลับไม่ยั่งยืน ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาผู้หญิงและเด็ก ความรุนแรง ละเมิดสิทธิ ยังคงมีรายวัน” ธนพรกล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง