โควิด-19 : โลกจับตาบราซิล หลังเชื้อกลายพันธุ์แพร่ไปแล้วในกว่า 25 ประเทศ
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การปล่อยให้คนที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ครบโดสจำนวนมากไปปะปนอยู่กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะที่โรคนี้กำลังระบาดอยู่นั้น อาจทำให้เกิด "แหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่"ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กลายพันธุ์ที่ทนทานต่อวัคซีนได้
ความกังวลนี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงในขณะที่การให้วัคซีนแก่ประชาชนยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าระวังการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ ระบุว่า การระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ในบราซิลที่เรียกว่า P.1 อาจทำให้ประเทศนี้กลายเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่
ปัจจุบันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลได้แพร่ระบาดไปในกว่า 25 ประเทศ โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ระบุว่าบราซิลมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วทั้งสิ้นเกือบ 278,000 ราย
แม้จะมีอัตราการตายสูง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ของบราซิลกับประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ที่มักไม่ยอมรับถึงความร้ายแรงของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามให้วัคซีนแก่ประชาชนในประเทศ
โดยพบว่ามีประชากรบราซิลประมาณ 4% (ราว 8.6 ล้านคน) ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก ในขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสมีเพียง 2.9 ล้านคน
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าปัจจัยทั้งหมดนี้ คือส่วนผสมที่อันตราย
หลบเลี่ยงภูมิต้านทาน
ในขณะที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาด พวกมันจะมีการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้วิธีการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เพื่อให้สามารถโจมตีเซลล์และทำให้เราติดเชื้อได้
ดร.จูเลียน ถัง นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า เมื่อเชื้อ Sars-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายของคนเรา และต่อสู้กับแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานที่มีอยู่ปริมาณเล็กน้อย เชื้อจะเกิดการกลายพันธุ์เพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นและมีความทนทานต่อแอนติบอดีเหล่านั้น
กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการของไวรัส
ดร. ถังกล่าวว่า "หากคุณได้รับวัคซีนวันนี้ คุณจะยังไม่มีภูมิต้านทานโรคในทันที เพราะจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์กว่าที่แอนติบอดีจะปรากฏขึ้นในร่างกาย และคุณยังสามารถติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์ P.1 ของบราซิลได้อยู่"
"หากแอนติบอดีที่ได้จากวัคซีนปรากฏขึ้นในช่วงเดียวกับที่คุณกำลังติดเชื้อไวรัส และเชื้อกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายของคุณ เชื้ออาจเพิ่มจำนวนด้วยวิธีการหลบเลี่ยงแอนติบอดีที่ร่างกายกำลังผลิตขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้การกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ต่อไวรัสมากที่สุดได้คงอยู่ต่อไปและเพิ่มจำนวนขึ้นตามกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ" เขากล่าว
ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่เกิดติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ก็ยังสามารถแพร่เชื้อเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่นได้
เมื่อกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เช่นในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการให้วัคซีนในระดับปานกลาง ก็อาจทำให้เกิด "แรงกดดัน" ทางชีวภาพที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์
ดร.ปีเตอร์ เบเกอร์ รองผู้อำนวยการกลุ่มสุขภาพและการพัฒนาโลกแห่งอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ระบุว่ากรณีดังกล่าว "จะทำให้เกิดภาวะสมดุลกันระหว่างผู้มีภูมิคุ้มกันโรคกับผู้ติดเชื้อ...และเมื่อประชากรสองกลุ่มปะปนกันก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ทนทานต่อวัคซีนขึ้น"
เชื้อกลายพันธุ์ที่ติดได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลบ่งชี้ว่าเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล (P.1) ซึ่งพบครั้งแรกในเมืองมาเนาส์ช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในบราซิล อาจติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อครั้งก่อน
เชื้อสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า E484k ในส่วนของ "โปรตีนหนาม" (spike protein) ของเชื้อไวรัส ซึ่งช่วยให้ไวรัสสามารถยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น และช่วยลดประสิทธิภาพของแอติบอดี
งานวิจัยของสถาบันฟิโอครูซ ในบราซิลพบว่า เชื้อสายพันธุ์ P.1 ได้แพร่ระบาดเข้าไปในอย่างน้อย 10 รัฐ จากทั้งหมด 27 รัฐของบราซิล
การสำรวจในพื้นที่ 8 รัฐ พบว่า กว่า 50% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 6 รัฐ เป็นการติดเชื้อโรคโควิด 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวล คือ สายพันธุ์ P.1 ของบราซิล, สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์แอฟริกาใต้
นายชาร์ลี วิตเทเกอร์ นักวิจัยด้านระบาดวิทยาที่อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ระบุว่า "หากไม่มีมาตรการควบคุม เชื้อกลายพันธุ์ P.1 จะกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการระบาดระลอกใหญ่"
วัคซีนกับเชื้อกลายพันธุ์
ในงานวิจัยอีกชิ้นของอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาเปาโล และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเมินว่า เชื้อ P.1 สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อโรคโควิด-19 ดั้งเดิมที่ยังปรากฏในบราซิลถึง 1.4 - 2.2 เท่า
นอกจากนี้ มันอาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ราว 25% - 61% ของการติดเชื้อทั้งหมด
ศาสตราจารย์เบเกอร์กล่าวว่า "เมื่อไวรัสกลายพันธุ์สัมผัสกับผู้ที่เคยมีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ก็จะมีแรงกดดันให้เชื้อต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อพยายามหาหนทางให้คนเหล่านี้กลับมาติดเชื้อได้อีก"
"ดังนั้นการผสมกันระหว่างการระบาดใหญ่ในปัจจุบันกับครั้งที่ผ่านมาจึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่ของเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบราซิล"
ห้องแล็บกลางแจ้ง
ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในบราซิลสูงเป็นประวัติการณ์ โดยผลการประเมินบางชิ้นบ่งชี้ว่ายอดผู้เสียชีวิตสะสมในประเทศอาจพุ่งแตะหลักครึ่งล้านรายภายในสิ้นปี 2021
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของบราซิลอยู่ที่เกือบ 11.5 ล้านคน แซงหน้าอินเดีย และตามหลังเพียงสหรัฐฯ ที่มียอดผู้ติดเชื้อรวมสูงสุดในโลกคือ 30 ล้านคน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 15 มี.ค. พบว่าบราซิลมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนหน้ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 76,000 คน มากกว่าสหรัฐฯ ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 52,000 คน ขณะที่อินเดียมี 26,000 คน
ดร.ถังชี้ว่านี่ทำให้กิดความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่ทนทานต่อวัคซีน
"หากปล่อยทิ้งไว้ เชื้อกลายพันธุ์ของบราซิลจะเพิ่มจำนวนขึ้นจนคุมไม่อยู่และแพร่ระบาดไปทั่ว โดยในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูงจะมีภัยคุกคามต่อวัคซีน เพราะเชื้อกลายพันธุ์ที่สามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้อาจอุบัติขึ้นจากการที่เชื้อกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้น"
วัคซีนจะป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่
วัคซีนต้านโควิด-19 ที่บราซิลให้แก่ประชาชนในปัจจุบันคือชนิดที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทซิโนแวคของจีน และของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
หลังจากปฏิเสธจะซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มานานหลายเดือน ในที่สุดประธานาธิบดีโบลโซนาโร ก็ยอมลงนามในร่างกฎหมายที่เอื้อให้ซื้อวัคซีนชนิดนี้ได้รวดเร็วขึ้น
งานวิจัยเบื้องต้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่าวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งมีการกลายพันธุ์ E484k แบบเดียวกับสายพันธุ์บราซิล แต่ก็ยังถือว่าให้การป้องกันในระดับที่ดีอยู่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความยากลำบากที่จะทำให้โครงการให้วัคซีนดำเนินไปด้วยความสำเร็จ
อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่า มาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล็อกดาวน์ ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำในระหว่างที่กำลังดำเนินโครงการให้วัคซีนแก่ประชาชน
ศาสตราจารย์เบเกอร์ชี้ว่า มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยชะลออัตราการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ แต่ยังช่วยซื้อช่วงเวลาที่สำคัญ เพื่อรับประกันว่าวัคซีนที่ให้แก่ประชาชนจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แต่ประธานาธิบดีโบลโซนาโร กลับยืนยันจุดยืนในการต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ โดยอ้างว่าเป็น "นโยบายที่ไม่มีที่ใดในโลกใช้ได้ผล" พร้อมบอกให้คนบราซิลเลิก "ตื่นตระหนกเกินเหตุ" กับโควิด-19
นายเยเซม โอเรลยานา นักวิจัยด้านระบาดวิทยาของสถาบันฟิโอครูซ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า "ขณะนี้บราซิลคือภัยคุกคามมนุษยชาติและเป็น 'ห้องแล็บกลางแจ้ง' สิ่งดีที่สุดที่เราพอทำได้คือหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ในการให้วัคซีนครั้งใหญ่แก่ประชาชน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในทีมบริหารจัดการโรคระบาดครั้งนี้"
นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก บอกว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในบราซิล "น่ากังวลอย่างยิ่ง" พร้อมเตือนว่าปัญหานี้อาจลุกลามเข้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค
"หากบราซิลไม่จริงจัง ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคทั้งหมด ตลอดจนประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ"