รีเซต

นายกฯ ดีใจ เด็กไทยคว้าที่ 7 แข่งสร้างดาวเทียมจำลอง ย้ำ ให้ความสำคัญสร้างคน

นายกฯ ดีใจ เด็กไทยคว้าที่ 7 แข่งสร้างดาวเทียมจำลอง ย้ำ ให้ความสำคัญสร้างคน
มติชน
20 มิถุนายน 2565 ( 13:56 )
64
นายกฯ ดีใจ เด็กไทยคว้าที่ 7 แข่งสร้างดาวเทียมจำลอง ย้ำ ให้ความสำคัญสร้างคน

“บิ๊กตู่” ดีใจ เด็กไทย คว้าที่ 7 จากการแข่งสร้างดาวเทียมจำลองขนาดจิ๋ว ย้ำ ให้ความสำคัญการสร้างคนให้มีความรู้ เหตุ หัวใจความก้าวหน้า

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแสดงความดีใจ พร้อมชื่มชมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพมหานคร ที่สามารถคว้าแชมป์โลก และคว้าอันดับ 7 ในการแข่งขันสร้างดาวเทียมจำลองขนาดจิ๋ว Annual CANSAT Competition 2022 ณ สถาบันโพลีเทคนิค และมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา โดยมี 49 ทีม จากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขัน

 

สำหรับการแข่งขัน Annual CANSAT Competition 2022 เป็นการแข่งขันสร้างดาวเทียมจำลองที่มีขนาดเล็กจิ๋วเท่ากระป๋องเครื่องดื่ม หรือ ที่เรียกว่า “CANSAT” โดยปฏิบัติตามภารกิจที่กำหนด ซึ่งนักเรียนไทยทีม Descendere สามารถคว้าแชมป์โลก ด้วยคะแนน 86.2185 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทีม Gravity คว้ารางวัลอันดับ 7 ของโลก ด้วยคะแนน 66.4924 เปอร์เซ็นต์

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดาวเทียมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีอวกาศ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนโครงกาภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ Thailand Space Consortium (TSC) โดยมี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นแกนหลัก ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ GISTDA และหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในกระทรวงอุดมศึกษาอีกหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านอวกาศของไทย ขณะนี้มีโครงการการพัฒนาดาวเทียมเชิงแสงที่เป็นประโยชน์กับการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) มีความต่างจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรทั่วไป เพราะจะสามารถเห็นความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ ปริมาณสารตกค้าง สารพิษจากยาฆ่าแมลงในพืช หรือความชุ่มชื้นของดิน เป็นต้น

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังได้มีส่วนร่วมในการสนับการพัฒนาดาวเทียมอีกด้วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ร่วมกับมหาวิทยาลัย จัดเวิร์คช็อปเพื่อสร้างทีมและโรดแมพเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก มีวัตถุประสงค์ให้คณาจารย์และนักศึกษา นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนและพัฒนาความรู้ด้านดาวเทียมขนาดเล็กสู่ระดับประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจ ติดตาม ระบบการเปลี่ยนแปลงในแปลงเกษตร และ earth observation โดยระบบภาพถ่ายดาวเทียม

 

“นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการสร้างคนให้มีความรู้และทักษะอย่างเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะคือหัวใจของความก้าวหน้าทางดาวเทียม และอุตสาหกรรมอวกาศ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมวิทยาศาสตร์ หรือดาวเทียมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับประเทศ รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้งสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอวกาศ เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพ และเครือข่ายที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาบุคลากรและนำองค์ความรู้ทีมาสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอวกาศที่มีมูลค่ามหาศาล และเกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม” น.ส.รัชดา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง