ttb คาดค่าบาทหลุดต่ำกว่า 33 บาท/ดอลล์

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ซึ่งปกติเป็นฤดูกาลที่ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่า รวมถึงค่าเงินบาท โดยหนึ่งในเหตุผลที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวคือ การส่งกลับเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผล ตลอดจนเป็นช่วงที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงอื่นของปี ซึ่งกระทบต่อความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัด นอกจากนี้ หากดูปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยิ่งหนุนการอ่อนค่าของเงินบาท
แต่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปัจจุบัน กลับไม่เป็นไปตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น โดยภาพรวมค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าร้อยละ 2.13 ในไตรมาสที่ 2 (ณ วันที่ 13 พ.ค. 68) และมีจังหวะแข็งค่ามากสุดในรอบ 7 เดือนแตะระดับ 32.565 บาท ขณะที่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าราวร้อยละ 2.64
และคาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า และมีแนวโน้มปิดสิ้นปีนี้ต่ำกว่าระดับ 33.00 บาท
เนื่องจากนโยบายและการบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำ กดดันค่าเงินบาทให้แข็งขึ้น เพราะความสัมพันธ์ของค่าเงินบาทและราคาทองคำในปี 2568 ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วงวิกฤตโควิด และอยู่ในระดับที่สูงกว่าความสัมพันธ์ของราคาทองคำกับสกุลภูมิภาคอื่น ๆ
นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงและความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีจำกัดจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสนับสนุนการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น จุดยืนของทรัมป์ที่สนับสนุนการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมการแข็งค่าของเงินสกุลหลัก และภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงค่าเงินบาท
ดังนั้นผู้มีความเกี่ยวข้องควรติดตามความเสี่ยงจากนโยบายอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจลามสู่การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้