รีเซต

โฉมหน้า "มังกรจีน" บนภาชนะใส่สุราของเจ้าผู้ครองนครเมื่อ 2,000 ปีก่อน

โฉมหน้า "มังกรจีน" บนภาชนะใส่สุราของเจ้าผู้ครองนครเมื่อ 2,000 ปีก่อน
Xinhua
12 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:45 )
45

เครื่องอุ่นสุราขนาดยักษ์ที่มีมังกรตัวเล็กๆ หลายสิบตัวขดพันทับกันไปมา ภาชนะใส่สุราที่มีรูปทรงคล้ายเรือมังกร และโต๊ะโบราณลายหงส์และมังกรเหิน ล้วนเป็นภาชนะสัมฤทธิ์โบราณที่มีอายุเก่าแก่หลายพันปีถึงช่วงก่อนราชวงศ์ฉิน โดยทั้งสามชิ้นถูกขุดค้นพบจากคนละพื้นที่ของจีน ได้แก่ หูเป่ย ซานซี และเหอเป่ย ตามลำดับ แต่สิ่งที่โบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้มีเหมือนกันคือวัฒนธรรมมังกร กล่าวได้ว่า "เครื่องใช้มังกร" สุดวิจิตรงดงามที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทั้งสามชิ้นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะขั้นสูงในการหล่อโลหะของชาวจีนโบราณ ปัจจุบันถูกจัดเป็นสมบัติชาติที่ห้ามมิให้นำออกนอกประเทศ1.เครื่องอุ่นสุราลายหมู่มังกรขด (ภาพจากพิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ย: "จุนผานของเจิงโหวอี่" เครื่องอุ่นสุราสมัยจีนโบราณ)

หากมองจากที่ไกล ลายของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อาจดูคล้ายกลุ่มเมฆ แต่แท้จริงแล้วมันคือลวดลายที่ประกอบขึ้นจากฝูงมังกร งู และผานชือ (มังกรในยุคแรก) ขดพันล้อมรอบกันเป็นชั้นๆ ทั้งน่าอัศจรรย์ใจและลายตาในเวลาเดียวกัน เครื่องอุ่นสุรานี้มีชื่อว่า "จุนผานของเจิงโหวอี่" (曾侯乙尊盘) พบจากสุสานของเจิงโหวอี่ เจ้าผู้ครองนครของรัฐเจิงในยุครณรัฐหรือยุคจ้านกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในเมืองสุยโจว มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน เมื่อปี 1978 ถือเป็นหนึ่งในเครื่องสัมฤทธิ์ยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และยุคจ้านกั๋ว ที่มีความซับซ้อนและวิจิตรประณีตมากที่สุด ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ย

(ภาพจากพิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ย: ส่วนผานของ "จุนผานของเจิงโหวอี่" เครื่องอุ่นสุราสมัยจีน

โบราณ)ชื่อ "จุนผาน" หมายถึงภาชนะสองชิ้นได้แก่ "จุน" (尊) และ "ผาน" (盘) ที่ถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกัน จุนคือภาชนะใส่สุรา ส่วนผานคือภาชนะใส่น้ำ ในหน้าหนาวสามารถใช้ผานใส่น้ำเดือดเพื่ออุ่นสุราในจุน ขณะที่ในหน้าร้อนใช้ใส่น้ำแข็งเพื่อลดอุณหภูมิของเครื่องดื่มภาชนะทั้งชุดสูงรวม 42 เซนติเมตร และหนักเกือบ 30 กิโลกรัม ส่วนที่เป็นจุนประดับตกแต่งด้วยมังกร 28 ตัว ผานชือ 32 ตัว ส่วนท้องและส่วนฐานของจุนเต็มไปด้วยลวดลายผานชือและลายมังกรนูนสูง-ต่ำ ขณะที่ส่วนผานมีมังกร 56 ตัว ผานซือ 48 ตัว ส่วนฐานของผานมีประติมากรรมลอยตัว มังกรหนึ่งหัวสองลำตัว (双身龙) รวม 4 ตัว โดยส่วนหัว ลำตัว และหางของพวกมันจะเลื้อยวนคดเคี้ยวไปมา แสดงถึงกำลังวังชาเจิงพาน ผู้อำนวยการฝ่ายจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ยกล่าวว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้โดดเด่นด้านจำนวนของมังกรและรูปทรงที่งดงาม ทั้งยังต้องประกอบชิ้นส่วนนับร้อยชิ้นเข้าด้วยกันจึงจะสร้างขึ้นมาได้ และด้วยความซับซ้อนนี้เอง จึงยังไม่เคยมีใครผลิตซ้ำผลงานนี้ได้2. กงทรงเรือมังกรมีคำกล่าวว่า "ชาวซางนิยมร่ำสุรา" เห็นได้จากเครื่องใช้สัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่มีภาชนะใส่สุราหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือกง (觥) ที่ขุดพบในอำเภอสือโหลว มณฑลซานซี เมื่อราว 60 ปีก่อน ซึ่งมีรูปทรงคล้ายมังกร ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลซานซีกงมังกรมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์และวิจิตรบรรจง สูง 17.7 เซนติเมตร ยาว 42.5 เซนติเมตร หนัก 4,310 กรัม จุของเหลวได้ 1,620 มิลลิลิตร มองดูคล้ายกับเรือมังกร ซึ่งแตกต่างจากกงสัมฤทธิ์ทั่วไปที่มักออกแบบให้หัวสัตว์อยู่ที่ส่วนหน้าของฝาปิด และมีหูจับอยู่ที่ส่วนท้าย[

(ภาพจากพิพิธภัณฑ์มณฑลซานซี: กง ภาชนะใส่สุราทรงมังกรสมัยราชวงศ์ซาง)

ส่วนหน้าของกงชิ้นนี้เป็นหัวมังกรเชิดขึ้น ดวงตาเบิกกว้าง ปากเผยอจนเห็นเขี้ยว ส่วนฝามีปุ่มจับเล็กๆ คล้ายเห็ด ลำตัวด้านหน้าแคบกว่าด้านหลัง ด้านข้างมีรูสี่เหลี่ยมสองรูสำหรับร้อยเชือกถือ ลวดลายสัตว์ที่พบบนภาชนะนี้มีมังกร งู และจระเข้ เป็นหลัก รวมๆ แล้วมากกว่า 20 ตัว โดยแต่ละตัวเกาะเกี่ยวรัดรึงกันไปมา ขับเน้นให้กงซึ่งมีรูปทรงเรียบง่ายและสง่างามนี้โดดเด่นยิ่งขึ้น"ลายมังกรบนฝามีลำตัวคดเคี้ยวและหางม้วนงอ ซึ่งเชื่อมต่อกับหัวมังกรที่อยู่ส่วนหน้า เป็นการผสานกันของลวดลายแบบสองมิติและสามมิติ การผลิตต้องทำการหล่อส่วนเขามังกรและปุ่มทรงเห็ดที่ฝาก่อน แล้วจึงค่อยหล่อส่วนลำตัวและฝา สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมยุคสัมฤทธิ์ของรัฐฟางช่วงปลายราชวงศ์ซาง" คำบอกเล่าของชุยเย่ว์จง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์มณฑลซานซี

(ภาพจากพิพิธภัณฑ์มณฑลซานซี: ลวดลายลำตัวมังกรบนฝาปิดของกง)

3.โต๊ะลายหงส์และมังกรเหินเมื่อมีถ้วยใส่สุราที่วิจิตรรุ่มรวยแล้ว ย่อมต้องมีโต๊ะสำหรับวางสุราที่เข้ากัน ดังเช่น อั้น (案) หรือโต๊ะโบราณทรงเหลี่ยมตัวหนึ่งที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอเป่ยของจีน โต๊ะตัวนี้ประกอบด้วยมังกร 4 ตัวและเฟิ่ง หรือ หงส์ อีก 4 ตัว มีอายุย้อนกลับไปถึงสมัยจ้านกั๋ว ผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคชุบเงินและชุบทองโต๊ะตัวนี้ถูกค้นพบที่สุสานโบราณในหมู่บ้านซานจี๋ อำเภอผิงซาน มณฑลเหอเป่ย เมื่อปี 1977 มีความสูง 36.2 เซนติเมตร หนัก 18.65 กิโลกรัม ฐานโต๊ะมีกวางซิกา (ภาษาจีนเรียก กวางดอกบ๊วย) 4 ตัว ถัดขึ้นมาเป็นมังกรยืน 4 ตัว มีหงส์ในท่าชูคอส่งเสียงร้องและสยายปีกพร้อมโบยบินอยู่ระหว่างกลางของลำตัวมังกรที่ขดพันกันไปมา ลวดลายหงส์ร่อนมังกรเหินนี้ มีทั้งการเคลื่อนไหวและความนิ่งสงบที่ผสานกันอย่างลงตัวและแปลกพิสดาร

(ภาพจากพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอเป่ย: โต๊ะโบราณทรงเหลี่ยมลายมังกรและหงส์)

อั้นเป็นเครื่องเรือนที่เก่าแก่ที่สุดประเภทหนึ่งที่พบในจีน หมายถึงโต๊ะขนาดเล็กที่คนโบราณมักใช้วางสิ่งของในชีวิตประจำวัน หรือใช้เป็นโต๊ะเพื่อพักผ่อนก็ได้เช่นกัน เมื่อครั้งขุดพบโต๊ะตัวนี้ แผ่นโต๊ะเคลือบยางรักได้ผุพังไปหมดแล้วเหลือเพียงส่วนแท่น และกว่าจะได้โต๊ะตัวนี้ออกมาช่างสมัยโบราณต้องใช้กระบวนการต่างๆ หลายขั้นตอน เช่น การหล่อ การฝัง การเชื่อม การชุบเงินและชุบทอง เป็นต้น

(ภาพจากพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอเป่ย: โต๊ะโบราณทรงเหลี่ยมลายมังกรและหงส์)

จางชางผิง ศาสตราจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ให้ข้อมูลว่าช่างฝีมือยุคโบราณใช้ภูมิปัญญาและเทคนิคที่มีรังสรรค์จินตนาการสู่ผลงานสุดวิจิตร การถลุงและหล่อสัมฤทธิ์เฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปลายราชวงศ์ซาง จนกระทั่งถึงยุคชุนชิวจ้านกั๋วที่มีการนำเทคนิคการหล่อขี้ผึ้งมาใช้ ทำให้ความยุ่งยากทางเทคนิคลดน้อยลง และการผลิตมีความแพร่หลายมากขึ้น "สิ่งประดิษฐ์รูปมังกรทั้งสามชิ้นนี้ผ่านการหล่อหลายครั้ง สะท้อนถึงระดับความรู้ด้านเทคนิค วัฒนธรรม และศิลปะในสมัยนั้น" ศาสตราจารย์จางกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง