สภากทม.ไฟเขียวงบปี64 จำนวน 7.55 หมื่นล้าน ดันกทม.เป็นมหานครแห่งเอเชีย
วันนี้ (5 ก.ย. 63) นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ท. โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการพิจารณา งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกรุงเทพมาหานคร
นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร
จากการที่กรุงเทพมหานครเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาวงเงิน 75,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมาทางสภากรุงเทพมหานครได้มีมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติและมีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 35 คน
ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงในด้านต่าง ๆเพื่อให้การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของกรุงเทพมหานครดังกล่าวมีความคุ้มค่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมปัจจุบัน และก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และกรุงเทพมหานคร
โดยสภากรุงเทพมหานครจัดทำสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งแบ่งเป็นงบประมาณของสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร จำนวน 19,028,749,190 บาท ,สำนักและหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร จำนวน 39,479,366,565 บาท, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จำนวน 2,784,027,000 บาท ,งบกลาง จำนวน 14,207,857,245 บาท รวมยอดงบประมาณของกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 75,500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ลดลงจากปีงบประมาณฯ 2563 เนื่องจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของ กรุงเทพมหานคร เป็นการจัดทำงบฯแบบสมดุล มีความสอดคล้องกับรายได้และรายจ่ายของกรุงเทพมหานครในปีงบประมาณนั้นๆ
นอกจากนี้ยังมียอด 951,764,300 บาท โดยเป็นงบประมาณของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ดีการบริหารงบประมาณดังกล่าวสามารถจัดสรรตามแผนงานได้ 7 ด้าน คือ
1. ด้านการบริหารทั่วไป
2.ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3.ด้านการโยธาและระบบจราจร
4.ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย
5.ด้านการพัฒนาและบริการสังคม
6.ด้านการสาธารณสุข
และ 7.ด้านการศึกษา
ทั้งนี้แผนงาน 7 ด้านดังกล่าวสามารถครอบคลุมการบริหารกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นมหานครแห่งเอเชีย ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 นั้น แผนงานด้านการโยธาได้รับการจัดสรรมากที่สุด ประมาณ 8,000 ล้านบาท
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE