รีเซต

จีน : ผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือเจ้าหนี้ดอกโหดในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

จีน : ผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือเจ้าหนี้ดอกโหดในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ข่าวสด
30 กันยายน 2564 ( 11:25 )
42
จีน : ผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือเจ้าหนี้ดอกโหดในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ข้อมูลวิจัยชุดใหม่ระบุ จีนออกเงินให้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ มากกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 2 เท่า ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการปล่อยกู้จากธนาคารของรัฐบาลจีนซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงและประเทศลูกหนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยง

 

 

ในอดีตไม่นาน จีนเคยต้องรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว และจำนวนเงินที่จีนให้ประเทศต่าง ๆ กู้ยืมก็มากจนน่าตกใจ

 

 

จากข้อมูลโดยเอดดาตา (AidData) ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี (William & Mary) ในรัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา จีนปล่อยกู้ให้ 165 ประเทศ คิดเป็น 8.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

เงินส่วนใหญ่ลงไปกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative -- BRI) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2013 อาศัยความเชี่ยวชาญของจีนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบวกทุนมหาศาลที่จีนมีในการสร้างเส้นทางการค้าใหม่ทั่วโลก

 

 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญกังวลกันว่า ประชาชนในประเทศที่กู้เงินดอกเบี้ยสูงจากรัฐบาลเพื่อทำโครงการที่อยู่ใน BRI กลับไม่รู้ว่ารัฐบาลประเทศตัวเองไปทำข้อตกลงอะไรกับจีน และประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้มหาศาล

 

 

แม้แต่เจ้าหน้าที่จีนเองก็ยังไม่รู้ว่าภาพรวมเรื่องการใช้เงินของรัฐ นักวิจัยของ AidData ซึ่งใช้เวลา 4 ปีที่ผ่านมาคอยสังเกตการณ์การใช้เงินและการให้กู้ยืมเงินของจีน เล่าว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ ของจีนมาขอข้อมูลจากพวกเขาบ่อยครั้งเพราะไม่สามารถหาข้อมูลจากภายในได้ว่าเงินของรัฐถูกนำไปใช้ในต่างประเทศอย่างไร

 

 

โครงการสร้างเส้นทางรถไฟคดเคี้ยวที่วิ่งระหว่างจีนกับลาว เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าจีนให้ประเทศต่าง ๆ กู้ยืมเงินอย่างไม่ลงบันทึกเป็นทางการ

 

 

หลายทศวรรษมาแล้ว นักการเมืองขบคิดเรื่องเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ไม่ติดทะเลกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

แต่วิศวกรหลายคนออกมาเตือนว่าต้องใช้ทุนก่อสร้างสูงมาก รางรถไฟต้องพาดผ่านเทือกเขาสูง และต้องสร้างสะพานและขุดอุโมงค์อีกหลายสิบแห่ง ลาวเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคนี้ประเทศหนึ่งและก็ไม่มีเงินออมพอไปลงทุนในโครงการนี้

 

 

E

แต่มันก็เกิดขึ้นได้เพราะมีเงินจากธนาคารในจีน และก็ได้รับแรงสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนด้วย โครงการรถไฟมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสร้างเสร็จสมบูรณ์และเตรียมวิ่งในเดือน ธ.ค. นี้

 

 

อย่างไรก็ดี ลาวต้องกู้ยืมเงิน 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารจีนเพื่อไปลงในหุ้นอันน้อยนิดของตัวเอง โดยใช้รายได้จากการขุดแร่โพแทช ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่แหล่งรายได้ของประเทศ เป็นหลักประกันของเงินกู้

 

 

"เงินกู้ที่เอ็กซิมแบงก์ (ธนาคารส่งออกนำเข้า) ของจีนให้เพื่อโปะหุ้นส่วนนี้ของเงินทุนทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ารัฐจีนเร่งรีบที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จแค่ไหน" วันจิง เคลลี เชน จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง ระบุ

 

 

บริษัทรถไฟที่จีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเจ้าของเส้นทางรถไฟเกือบทั้งหมด แต่ภายใต้สัญญาที่คลุมเครือไม่ชัดเจนนัก ในที่สุดแล้วรัฐบาลลาวต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้จากการสร้างทางรถไฟ ข้อตกลงที่ไม่สมดุลเอาเสียเลยนี้ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลาวในฐานะผู้ออกพันธบัตรลงเป็นระดับ "ขยะ" (junk status)

 

 

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายจนประเทศใกล้จะล้มละลาย ในเดือน ก.ย. 2020 ลาวตัดสินใจขายหุ้นจำนวนหนึ่งในโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าให้จีนเป็นเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเงินมาชำระเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารของจีน โดยเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่รถไฟสายนี้จะเริ่มเปิดให้บริการเลยด้วยซ้ำ

 

 

เส้นทางรถไฟสายนี้ไม่ใช่โครงการที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงโครงการเดียวที่ธนาคารของจีนเข้าไปลงทุน แต่ AidData บอกว่า ประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและปานกลางหลายประเทศก็ยังเลือกให้จีนเป็นผู้ลงทุนในประเทศตัวเองเป็นอันดับแรก

A

"โดยเฉลี่ยแล้ว เงินที่จีนลงไปในโครงการพัฒนาในต่างประเทศต่อปีมากถึง 8.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกัน สหรัฐฯ ใช้เงินราว 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์เฉลี่ยต่อปี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทั่วโลก" แบรด พาร์ค ผู้อำนวยการบริหารของ AidData ระบุ

 

 

AidData ระบุว่า การลงเงินเพื่อการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ ของจีนแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ไปมาก และก็ทำได้อย่างรวดเร็วอย่างมาก

 

 

ในอดีต ประเทศตะวันตกเคยทำให้หลายประเทศ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปแอฟริกา ต้องตกเป็นหนี้ แต่จีนมีวิธีการให้กู้ยืมเงินที่แตกต่างไป โดยแทนที่จะเป็นการให้เงินหรือให้ยืมเงินระหว่างรัฐต่อรัฐ เงินเกือบทั้งหมดที่ให้เป็นลักษณะของการปล่อยกู้โดยธนาคารของรัฐแทน

 

 

เงินกู้ในลักษณะนี้ไม่ได้ปรากฏในบัญชีหนี้ทางการของรัฐบาล เพราะชื่อสถาบันต่าง ๆ ของรัฐบาลไม่ได้ปรากฏในข้อตกลงที่ทำกับธนาคารของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ก็ยังมีสัญญาปกปิดข้อมูลเป็นความลับซึ่งทำให้รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดได้ว่าข้อตกลงที่ทำกับธนาคารของรัฐจีนคืออะไร

 

 

AidData ประเมินว่าหนี้สินที่ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นทางการทั้งหมดอาจมีถึง 3.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ สัญญาให้กู้เงินเพื่อการพัฒนาของจีนหลายก้อนยังเรียกร้องหลักทรัพย์ประกันในรูปแบบที่ไม่ได้เห็นกันทั่วไปอีกด้วย มีกรณีให้เห็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ว่าธนาคารจีนบังคับให้ประเทศที่กู้เงินเอาเงินที่ได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมาจ่าย

 

 

อย่างในเวเนซุเอลา มีข้อบังคับให้เวเนซุเอลาจ่ายเงินที่ได้จากการขายน้ำมันตรงเข้าบัญชีที่ควบคุมโดยจีน เมื่อไหร่ที่เวเนซุเอลาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ธนาคารจีนก็สามารถเอาเงินจากในบัญชีนั้นไปได้เลย

 

 

แบรด พาร์คส์ บอกว่า นี่ดูเหมือนเป็นยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการจะบอกลูกหนี้ว่า ว่าพวกเขาคือ "นายใหญ่"

 

 

"จีนฉลาดหรือเปล่า​ ?" คือคำถามจากแอนนา เจลเพิร์น อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยของ AidData ในช่วงก่อนหน้านี้ปีนี้ "ฉันคิดว่าเราได้ข้อสรุปว่าพวกเขา[จีน]แสดงท่าทีแข็งกร้าวและมีความช่ำชองมากในการทำสัญญาเหล่านี้ พวกเขาพยายามปกป้องผลประโยชน์ตัวเองเป็นอย่างมาก"

 

 

เจลเพิร์น อธิบายว่า การเรียกเก็บหนี้จากผู้กู้ยืมที่เป็นประเทศอาจเป็นเรื่องยากเย็นในบางที และถ้าประเทศเหล่านั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ให้กู้ก็ไม่สามารถคาดหวังว่าประเทศนั้น ๆ มอบสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อาทิ ท่าเรือ ให้ได้

BBC

แต่อีกไม่นาน จีนอาจเริ่มมีคู่แข่งหลังที่กลุ่มประเทศจี 7 (G7) ประกาศหลังการประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. ว่าจะให้ทุนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกโดยบอกว่าจะเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนทั้งทางการเงินและสิ่งแวดล้อม

 

 

อย่างไรก็ดี แผนนี้ก็อาจจะมาสายเกินไป

"ผมไม่เชื่อว่าโครงการริเริ่มของชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบอะไรต่อโครงการของจีนได้" เดวิด ดอลลาร์ จากสถาบันบรูกกิงส์ ในวอชิงตันดีซี และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในจีน กล่าว

 

 

"[โครงการริเริ่มใหม่ ๆ เหล่านั้น] จะไม่มีเงินพอที่จะดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในระดับที่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ต้องการได้ นอกจากนี้ การทำงานกับสถาบันการเงินทางการของชาติตะวันตกก็เต็มไปด้วยกฎระเบียบต่าง ๆ และจะมีความล่าช้ามาก"

 

 

แต่ทีมวิจัยของ AidData บอกว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็ประสบปัญหาเหมือนกัน โดยโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่าง ๆ มีแนวโน้มมีกรณีการทุจริต การละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นกรณีอื้อฉาว และปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของจีน

 

 

ทีมนักวิจัยบอกว่า การจะให้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดำเนินต่อไปได้ จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องจัดการปัญหาและข้อกังวลต่าง ๆ ที่ประเทศที่เป็นผู้กู้เงินร้องเรียนมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง