จีนออกรายงานโบราณคดี 'หมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา' เกื้อหนุนงานฟื้นฟู
(ภาพจากสถาบันตุนหวง : รายงานทางโบราณคดีของถ้ำหมายเลข 256 หมายเลข 257 และหมายเลข 259 ของหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานนี้)
หลานโจว, 26 ก.พ. (ซินหัว) -- สถาบันตุนหวงของจีนประกาศการเผยแพร่ชุดรายงานทางโบราณคดีของถ้ำสามแห่งในหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา ณ เมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีความเก่าแก่นับพันปี และครองสถานะแหล่งมรดกโลกแห่งองค์การยูเนสโก เนื่องด้วยมีผลงานพุทธศิลป์อยู่มากมาย
รายงานชุดนี้เป็นชุดที่ 2 ของ "งานหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกาฉบับสมบูรณ์" (Complete Works on Dunhuang Grottoes) ใช้ระยะเวลาจัดทำมากกว่าสิบปี มีเนื้อหาเกี่ยวกับถ้ำหมายเลข 256 หมายเลข 257 และหมายเลข 259 ของหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา จำนวนรวม 3 แสนตัวอักษรจีน
อนึ่ง โครงการจัดทำรายงานมหากาพย์นี้เริ่มต้นปี 1994 โดยฝานจิ่นซือ รองหัวหน้าสถาบันตุนหวงในเวลานั้น และรายงานชุดที่ 1 ถูกเผยแพร่ปี 2011
รายงานชุดที่ 2 แบ่งเป็นสามฉบับ ระบุรายละเอียดของตำแหน่ง โครงสร้าง สภาพการอนุรักษ์ถ้ำทั้งสามแห่ง ประติมากรรม ภาพวาดฝาผนัง และจารึกภายในถ้ำทั้งสาม รวมถึงบันทึกการตรวจสอบ การสำรวจและการทำแผนผัง รูปถ่ายและการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 และบรรณานุกรมของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
[caption id="attachment_421174" align="aligncenter" width="900"] (ภาพจากสถาบันตุนหวง : ภาพประกอบของถ้ำหมายเลข 259 ในหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา ซึ่งอยู่ในรายงานทางโบราณคดีที่เผยแพร่เมื่อไม่นานนี้)[/caption]
นอกจากบันทึกลายลักษณ์อักษรที่ละเอียดลออ รายงานชุดที่ 2 ยังมีภาพประกอบเกือบ 300 ภาพ รูปถ่ายมากกว่า 900 รูป และภาพพาโนรามิกแบบดิจิทัล 43 ภาพ
จางเสี่ยวกัง รองหัวหน้าสถาบันตุนหวง กล่าวว่ารายงานทางโบราณคดีเป็นแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับถ้ำทั้งสามที่ครอบคลุมมากที่สุด และจดหมายเหตุที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด ซึ่งคนรุ่นใหม่ในอนาคตอาจฟื้นฟูถ้ำหินเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์โดยอ้างอิงรายงานทางโบราณคดีเหล่านี้
อนึ่ง หมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกาถูกก่อสร้างระหว่างศตวรรษที่ 4-14 มีผลงานพุทธศิลป์อยู่มากมาย ประกอบด้วยประติมากรรมเขียนสีมากกว่า 2,000 ชิ้น และภาพวาดฝาผนัง 45,000 ตารางเมตร ภายในถ้ำน้อยใหญ่ 735 แห่ง ซึ่งถูกแกะสลักตามหน้าผาโดยผู้นับถือยุคโบราณ