สถานการณ์เมียนมา! 3 รัฐมนตรีไทย ย้ำไม่ยอมให้รุกล้ำอธิปไตย
วันนี้ (23 เม.ย. 67) เวลา 16:50 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประธานกรรมการเฉพาะกิจเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.) นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม (กห.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมา
นายปานปรีย์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายตนเอง และรัฐมนตรีอีกทั้ง 2 คน มาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเดินทางมาถึงจึงมีการประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาที่หาที่ปลอดภัยในแผ่นดินไทย ได้รับคำตอบว่าทุกคนสบายใจ จากที่เข้ามา 2 พันกว่าคน หลายคนก็เดินทางกลับประเทศเมียนมาแล้ว จนยังคงค้างอีกประมาณ 6 ร้อยคน เชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายก็คงจะกลับไปทั้งหมดใน 1 - 2 วันนี้
ส่วนผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สอด นั้น นายปานปรีย์ ตอบว่า ครั้งนี้มีการดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากมีกรณีที่คาดว่าจะเกิดอันตราย ฝ่ายรัฐบาลก็พร้อมเข้าดูแลทันที ย้ายคนไทยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ดังนั้น กองทัพบก กองทัพอากาศ และกระทรวงมหาดไทย ถือว่ามีการดูแลอย่างดีมาก ที่สำคัญ จะไม่ให้ใครรุกล้ำอธิปไตยโดยเด็ดขาด หรือใช้พื้นที่ของไทยไปต่อต้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมทั้งยึดมั่นการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เหล่านี้คือนโยบายที่มอบหมายไปตั้งแต่ต้นและดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายปานปรีย์ ยืนยันว่า การข้ามแดนเป็นไปตามปกติ อุปกรณ์ผ่านแดนฝั่งเมียวดีที่เสียนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร คงจะซ่อมแซมได้โดยเร็ว ส่วนจำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบก็เหลือเพียง 6 ร้อยกว่าคนแล้ว การเดินทางกลับไปจึงน่าจะไม่มีปัญหาแล้ว
“เสียงระเบิดมีอยู่บางช่วงเวลา เราห่วงการขนส่งทางรถ เพราะสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 ยังไม่ได้เปิด การขนส่งสินค้าจึงยังไม่เรียบร้อย แต่เชื่อว่าภายใน 1 - 2 วันจะเปิดได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝั่งเรา แต่ปัญหาอยู่ฝั่งเขา ซึ่งเราไม่รู้ว่าเวลานี้ ฝ่าย ตม. กับศุลกากรอยู่กับฝ่ายใด ศูนย์สั่งการชายแดนส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยเจรจากับเมียนมาตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาเล็กน้อยได้เกือบทั้งหมด” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
ส่วนข้อเสนอต่อการตั้งเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) นั้น นายปานปรีย์ ตอบรับว่า มีการพูดคุยกัน แต่ไทยรับสถานการณ์ได้ไม่ถึงขั้นต้องตั้งพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ของเขา ทั้งยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคิดให้ละเอียด ท้ายที่สุดเราก็อยากให้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด แต่เป็นเรื่องเมียนมาที่เราไม่สามารถแทรกแซงได้ ให้เมียนมาจัดการกันเอง แต่ไทยพร้อมประสานงานให้พูดคุยกัน และให้เกิดสันติภาพในเมียนมา
นอกจากนี้ นายปานปรีย์ ตอบรับถึงข้อเสนอให้รัฐบาลไทยเป็นตัวกลางพูดคุยให้การสู้รบลดน้อยลงนั้นว่า เป็นไปได้มาก เพราะขณะนี้มีการพูดคุยในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงชาติพันธุ์ติดอาวุธ และรัฐบาลเมียนมาเช่นกัน แต่เนื่องจากขณะนี้ในส่วนของเมืองเมียวดี การเจรจายังอยู่ภายในฝ่ายของเขา ยังไม่มีเวลาคุยกับเรา แต่เขาทราบแล้วว่า เราพร้อมเป็นตัวเชื่อมประสานแก้ไขเมียนมาทั้งระบบให้กลับสู่สันติภาพโดยเร็ว ส่วนการเจรจาผ่านบทบาทอาเซียนนั้น ไทยคิดว่าอาเซียนควรมีส่วนประสานงานแก้ไขปัญหาเมียนมาซึ่งเป็นประเทศสมาชิกด้วย หลังจากส่งหนังสือไป 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ประธานคือประเทศลาวทำงานเร็ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอคำตอบจากอาเซียนอีก 8 - 9 ประเทศ และคาดว่าจะมีการประชุมของอาเซียนอีกชุดด้วย
ส่วนสภาพการดูแลที่ภาคประชาสังคมห่วงกังวลนั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า คนเข้ามาหลบภัยคงไม่คาดหวังว่าจะอยู่เข้ามาในที่สะดวกสบาย ดังนั้น การดูแลจึงเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีแนวปฏิบัติที่เป็นสากล (Standard of Procedures) และเท่าที่ได้รับฟัง ยังไม่มีใครมีความรู้สึกว่าเข้ามาแล้วยากลำบาก แต่เข้ามาชั่วคราวเพื่อหลบภัย
ด้านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และมีการรายงานสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เรามีความจำเป็นต้องให้การดูแลผู้หลบภัยเข้ามาด้วยความจำเป็นด้านมนุษยธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหากเพื่อนบ้านมีภัยเสี่ยงต่อชีวิต เราก็ต้องให้ความดูแลอย่างปลอดภัย ในการนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ชรบ.
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ก็ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทุกหน่วยงาน จึงขอให้ความมั่นใจให้ประชาชนที่มีญาติพี่น้องในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก สบายใจ ส่วนนักท่องเที่ยวก็สามารถมาท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ มากมาย และอุดหนุนการค้าชายแดนได้ด้วย อยากให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ จึงไม่ควรให้เหตุการณ์ปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านมาทำลายโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของเรา
“นี่คืออธิปไตยของประเทศเรา ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเข้ามาทำร้ายคนของเขาหรือทิ้งอะไรต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหารของเรา เตรียมตัวอย่างเต็มที่“ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กองทัพยืนยันว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อยู่ในระดับที่เรารับมือได้ เตรียมการในระดับปกติ ยังไม่มีความจำเป็นต้องยกระดับการรับมือ ทั้งในภาคพื้นดินมีกองทัพภาคที่ 3 มีกองกำลังผลักดัน และให้ขวัญกำลังใจชาวบ้านได้ และกองทัพอากาศมีความสามารถสกัดยับยั้งได้ โดยมีข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามว่า หากนำเครื่องบินเข้ามาต้องแจ้งก่อน โดยเรามีศักยภาพในการนำเครื่องบินขึ้นสกัดได้ทันที ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีภัยทางอากาศ และรับมือได้
ส่วนผู้หนีภัยความไม่สงบ นายสุทิน ย้ำว่า มีการดำเนินมาตรการคัดแยกตามกลุ่มตามขั้นตอน คือหากเป็นชาวบ้าน ฝ่ายปกครองก็จะดูแล แต่หากเป็นทหารก็เข้าสู่กระบวนการปลดอาวุธ ที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ใดเกินกำลัง ทั้งทรัพย์สินชาวบ้านและอธิปไตย ยืนยันกองทัพรับมือได้