#ย้ายประเทศ ทำการศึกษาฮ่องกงวิกฤต
ข่าววันนี้ วิกฤตการศึกษาฮ่องกง เมื่อครอบครัวพาบุตรหลานย้ายประเทศ หาอนาคตที่ดีกว่าไกลจากการปกครองจีน
ครอบครัวหอบลูกย้ายหนี
เอดดี้ โล เป็นหนึ่งในชาวฮ่องกง ที่ตัดสินใจ ‘ย้ายประเทศ’ เพื่อหนีรัฐบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ที่บังคับใช้โดยจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อกวาดล้างแนวคิดเห็นต่างในฮ่องกง
เขาจะย้ายไปสหราชอาณาจักร พร้อมกับภรรยาที่เป็นครูโรงเรียนประถม และบุตรที่ยังเล็กอีก 2 คน พวกเขาอยากให้ลูกชายได้เรียนในโรงเรียนประถมในสหราชอาณาจักร
ไม่เพียงแค่เอดดี้ โล แต่เพื่อนของเขาหลายคน รวมถึงครูอีกหลายคนที่โรงเรียนที่ภรรยาทำงานอยู่ ต่างกำลังเตรียมการย้ายถิ่นฐานไปอยู่สหราชอาณากจักร
“ที่โรงเรียนของภรรยาผม เด็กเกือบ 10% ออกไปอยู่ประเทศอื่นกันแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา...และจะมีเด็กย้ายประเทศอีกฤดูร้อนนี้”
หนี “การล้างสมอง...เป็นซอมบี้คลั่งชาติ”
พวกเขาเหล่านี้จะย้ายประเทศ โดยอาศัยสิทธิประโยชน์พิเศษจากหนังสือเดินทางบริติชโพ้นทะเล หรือ BNO ซึ่งเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้ทันที ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังเปิดโครงการพิเศษ ให้ผู้ถือหนังสือเดินทาง BNO ตั้งรกรากและทำงานในสหราชอาณาจักรได้ รวมถึงเปิดทางสู่การขอสัญชาติบริติชในอนาคต
โล ทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง แม้รู้ดีว่า ถ้าไปสหราชอาณาจักรแล้ว คงให้ลูกเข้าโรงเรียนเอกชนดี ๆ ไม่ได้ แต่ “ผมไม่อยากให้ลูก ๆ ของผม ถูกล้างสมอง และกลายเป็นซอมบี้คลั่งชาติ” โดยจีนแผ่นดินใหญ่
แน่นอน การย้ายประเทศสำหรับเขาเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องคำนึงว่าจะไปอยุ่ที่ไหน จะให้ลูกเข้าโรงเรียนอะไร จะหางานดี ๆ ได้ไหมจากวุฒิการศึกษาจากฮ่องกง ยังไม่นับรวมความเสี่ยงการเหยียดเชื้อชาติอีก เพราะเขาก็รู้ดีว่า “ไม่ใช่คนอังกฤษทุกคนจะเป็นมิตรกับคนฮ่องกง การเหยียดเชื้อชาติมีทุกที่นั่นแหละ และลูกผมคงถูกรังแกในโรงเรียน”
แต่ความกังวลเหล่านี้ เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการต้องทนอยู่ในฮ่องกง ที่กำลังถูกปกครองโดยตรงจากจีนแผ่นดินใหญ่
หลักสูตรฟูมฟักความรักชาติ-รักจีน
South China Morning Post รายงานว่า ระบบการศึกษาฮ่องกง ไม่เคยเผชิญวิกฤตใหญ่ขนาดนี้ กับการที่ครอบครัวพาบุตรหลานย้ายประเทศ จนเด็กนักเรียนลดลงเรื่อย ๆ ช่วงที่เกิดการประท้วงทางการเมืองอย่างหนัก การศึกษาฮ่องกงยังไม่เผชิญความท้าทายระดับนี้
ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ผู้ปกครองอย่างเอดดี้ โล ไม่อยากปล่อยให้ลูก ๆ ต้องอยู่ในโรงเรียนฮ่องกง มาจากการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนใน 4 วิชาหลัก คือ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิชาเลือกเสรี จะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสนองตอบความต้องการของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กล่าวหาว่า โรงเรียนฮ่องกงสอนนักเรียนด้วย ‘อุดมคติความไม่รักชาติ’ มาโดยตลอด ดังนั้น การเรียนต่อจากนี้ไป จะสอดแทรกอุดมการณ์รักชาติและภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปด้วย
เนื้อหาเปลี่ยน บวก ทัศนศึกษาทัวร์จีนภาคบังคับ
วิชาที่จะเปลี่ยนชัดเจนสุด คือ วิชาเลือกเสรี ที่จะเพิ่มการสอน “ความเป็นพลเมืองและการพัฒนาสังคม” เข้ามาด้วย ด้วยหลักการให้คะแนน ‘ไม่ผ่านก็ตก’ ชื่อวิชาอาจไม่น่าตกใจ แต่เนื้อหาคือสอนถึงหลักชาตินิยม และการทัศนศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่แบบภาคบังคับ
ชื่อวิชาเลือกที่เปลี่ยนไปตามที่ SCMP รายงานอาทิ
จาก ‘ฮ่องกงวันนี้’ มาเป็น ‘ฮ่องกงภายใต้การปกครองหนึ่งประเทศสองระบบ’
จาก ‘ จีนยุคใหม่’ มาเป็น ‘ประเทศของเราหลังปฏิรูปและเปิดชาติ’
เด็กลดลงกว่า 10%
สมาคมผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งฮ่องกง หรือ HKAHSS เตือนว่า การปรับปรุงหลักสูตร จะทำให้นักเรียนไม่ตั้งคำถาม ไม่เกิดการถกเถียง นำมาสู่การเรียนแบบท่องจำ เรียนไปเพื่อสอบเอาคะแนนเท่านั้น
ไม่เพียงแต่นักเรียนประถมและมัธยมที่ลดน้อยลง จากการพาบุตรหลานย้ายประเทศ แม้แต่โรงเรียนอนุบาล ทั้งโรงเรียนฮ่องกงและของนานาชาติ มีรายงานการยกเลิกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับที่สูงมาก
เฉิง เสี่ยว-หมิง อดีตครูใหญ่โรงเรียนมัธยมครีเอทีพ และปัจจุบันเป็นคณะกรรมการโรงเรียน ระบุว่า “ทุกโรงเรียนกระทบหนักมาก ทั้งจากเศรษฐกิจ โควิด-19 และภาวะทางสังคม”
“บางโรงเรียน นักเรียนลดกว่า 10% ไม่ว่าจะโรงเรียนแบบไหนก็ตาม ภาครัฐหรือเอกชน โรงเรียนนานาชาติเองถึงกับต้องเสนอทุนการศึกษา เพื่อเพิ่มจำนวนนักเรียน”
แต่โรงเรียนอังกฤษ เด็กฮ่องกงเพิ่ม
ช่วงโควิด-19 ที่ผู้ปกครองส่งนักเรียนเข้าโรงเรียนเอกชนในสหราชอาณาจักรลดลง แต่นักเรียนจากฮ่องกง กลับเพิ่มขึ้นถึง 14%
ตัวเลขเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า มีนักเรียนจากฮ่องกง 5,962 คนเข้าเรียนในโรงเรียนสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นจาก 5,127 คนในปี 2020 ซึ่งก็ถือว่าสูงมากแล้ว
ประธานสภาโรงเรียนเอกชนในสหราชอาณาจักร ยังคาดว่า “ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอีก...ความต้องการเข้าเรียนของคนจากฮ่องกงเพิ่มขึ้น และจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก”
อีกมุมหนึ่งของการย้ายประเทศ
แต่ไม่ใช่ผู้ปกครองฮ่องกงทุกคนที่ต้องการพาบุตรหลานย้ายประเทศ ด้วยปัจจัยว่า เด็กไม่พร้อมอยู่ในวัฒนธรรมใหม่ ต้องห่างไกลบ้านเกิด และการศึกษาในสหราชอาณาจักรเองที่ไม่ดีเท่าที่คาดคิด
กอร์ดอน ฉาง เป็นคนฮ่องกงที่ย้ายไปอยู่สหราชอาณาจักร เขาส่งลูกเรียนพิเศษอย่างหนัก เพื่อเข้าเรียนในระบบการศึกษาสหราชอาณาจักร แต่เขากลับพบว่า การศึกษาแบบสหราชอาณาจักร “เน้นท่องจำ เหมือนหุ่นยนต์ เรียนเพื่อหาคำตอบที่เป็นรูปแบบอยู่แล้ว” มันเหมือน “อาจารย์ป้อนอาหารให้ลูกศิษย์” ขาดการคิดวิเคราะห์แบบที่เขาต้องการให้ลูกได้เรียนรู้
“ลูกยังต้องปรับตัวกับการสอนแบบใหม่ วัฒนธรรมใหม่ เขาคิดว่าครูในสหราชอาณาจักรจะช่วยเหลือ แต่ก็ต้องผิดหวัง”
“ตอนนี้ ลูกผมเครียดและซึมเศร้า มักเก็บตัวอยู่คนเดียวในห้อง” ลูกของฉาง ไม่ได้เกรดเพียงพอจะเข้ามหาวิทยาลัยแบบตรง และต้องเรียนเพิ่มอีกปี กว่าจะเข้าเรียนปริญญาตรีได้
พอเป็นแบบนี้ ฉางคิดว่า “การอยู่ต่อในฮ่องกงอาจจะดีกว่า”
เรื่อง : ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ : Philip FONG / AFP