รีเซต

'หมอนิธิ' แนะอย่ารอเลือกวัคซีนโควิด คนได้ครบแล้ว อย่างกรีบแย่งเข็ม 3

'หมอนิธิ' แนะอย่ารอเลือกวัคซีนโควิด คนได้ครบแล้ว อย่างกรีบแย่งเข็ม 3
ข่าวสด
4 กรกฎาคม 2564 ( 19:41 )
95

 

'หมอนิธิ' แนะอย่ารอเลือกวัคซีนโควิด คนได้ครบแล้ว อย่างกรีบแย่งเข็ม 3 เห็นใจคนที่ยังไม่ได้บ้าง แนะ 5 กลยุทธ์ใหม่ จัดลำดับความสำคัญสู้โควิด

 

 

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงวิธีการรับมือกับโรคโควิด-19 แบบใหม่ พร้อมแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญ (Priority) ของแผนกลยุทธ์ใหม่ มิใช่การป้องกันคนติดเชื้อ หรือคนแพร่เชื้อเหมือนก่อนหน้านี้ กล่าวคือช่วงที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยยังน้อยกว่านี้

 

 

นพ.นิธิระบุว่า ความจริงไม่ค่อยได้คุยเรื่องนี้มานานเพราะเห็นใจน้องๆในกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานกันตัวเป็นน็อตหัวเป็นเกลียวอยู่แล้วประกอบกับ ไม่อยากสร้างความสับสนให้กับสังคมอีก แต่ผมคิดว่าขณะนี้สถานการณ์การระบาดในบ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ขณะนี้มันระบาดไปมากไปไกลแล้ว คนเดินไปเดินมาเราไม่รู้แล้วว่าใครเป็นใคร ใครมีเชื้อในตัวบ้างเป็นจำนวนมาก

 

 

 

นพ.นิธิ กล่าวว่า เราสมควรจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ของแผนกลยุทธ์ใหม่ กลยุทธ์ตอนนี้ความสำคัญลำดับแรกไม่ใช่การป้องกันคนติดเชื้อหรือคนแพร่เชื้อเหมือนก่อนหน้านี้ (ตอนที่เรามีการระบาดน้อย) แต่ความสำคัญที่สุดที่ต้องทำ กลับต้องเป็นเรื่องการบริหารทรัพยากรคือเตียงและ ICU (ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าเพิ่ม…..ปลายเปิดไม่จำกัด) กับบุคลากรให้เพียงพอ โดย

 

 

“1) คนที่สงสัยว่าได้สัมผัส หรือรับเชื้อ และอยากตรวจ ต้องได้ตรวจ และด้วยปริมาณการตรวจที่อาจมีจำกัด เราควรลดการตรวจเชิงรุก (Proactive case finding) ลง เพื่อให้การตรวจมีเพียงพอในคนที่สงสัยและมีอาการ

 

 

“เคสที่ไม่จำเป็น (ไม่มีอาการ ป้องกันตัวเองได้และสามารถถึงแพทย์ได้เร็ว) ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลให้เปลืองเตียงเปลืองบุคลากร ติดตามเฝ้าระวังกันที่บ้านได้ ที่ รพ.จุฬาภรณ์ ทำมาแต่แรกของการระบาด คัดกรองให้ดี ทำได้ไม่มีปัญหา” นพ.นิธิกล่าว

 

 

 

นพ.นิธิ กล่าวต่อว่า 2) เรื่องที่ 1) ต้องทำพร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงไปโรงพยาบาลและการป้องกันตัวเองและครอบครัวทำอย่างไร ย้ำกันอีกบ่อยๆ ไม่ต้องเบื่อว่าเคยพูดแล้ว คนไทยพร้อมฟังและสอนง่าย

 

 

 

นพ.นิธิ กล่าวว่า 3) คิดใหม่นอกกรอบบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คิดใหม่ทำใหม่เรื่องการให้ยาให้เร็วป้องกันไม่ให้คนมีอาการหนัก เพราะทรัพยากรตรงนั้นจำกัด ถ้าจะให้คิดแบบฉลาด ไม่ใช่รอให้ปอดอักเสบแล้วค่อยให้ยาต้านไวรัส ถ้าจะไม่เห่อตามฝรั่งคืออาจต้องกล้าคิดและทำวิจัยไปให้สุดขั้ว (ไม่ใช่แค่ให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้นทุกคนในคนที่ตรวจพบผลบวก)

 

 

ต้องให้ยาป้องกัน (prophylactic) แบบไข้หวัดใหญ่ (influenza) คนที่คนในครอบครัวคนใกล้ชิดตรวจพบมีผลบวกคนหนึ่งให้ยาเลย และอย่ามาบอกว่าไม่มีข้อมูล ถ้าไม่หา ถ้าไม่ดูมันก็ไม่มี แน่นอน Absence of evidence doesn’t mean the evidence is absent ครับ

 

 

 

“4) น้องๆ หมออาจจะต้องปรับตัวกันในการทำงานข้ามความเฉพาะทางกันเพราะยามสงครามยามไม่ปกติความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามมาตรฐานฝรั่งใช้ไม่ได้ในสนามรบ คนข้างนอกทั่วไปเขามองเราเป็นหมอเป็นฮีโร่ครับ ไม่ใช่หมอตา หมอหัวใจ หมอพยาธิ หรือหมออื่นๆ ที่จะดูคนไข้โควิดไม่ได้และเขามองเราเป็น ‘หมอ’ ที่รักษาโควิดได้ดูแลคนไข้หนักในไอซียูได้ เราอาจต้องลดกำแพงความเฉพาะทางลง ไปช่วยเพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพเรากัน พยาบาล เภสัช วิชาชีพอื่นๆ ก็เช่นกันครับ ยามศึกทหารราบ ทหารม้า ทหารเรือ ตำรวจ อาสาประชาชนจับปืนสู้โควิดได้ทุกคน

 

 

 

5) มาตรฐานโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีไว้ตรวจกันตามฝรั่งในเวลาปกติก็เช่นกัน บางอย่างที่เคร่งครัดว่าทำไม่ได้ให้คิดเหตุผลกันใหม่แล้วปรับเพื่อคนไข้ได้ครับ"

 

 

“สุดท้ายไหนๆ ถ้าไม่พูดเรื่องวัคซีนเลยเดี๋ยวจะตกเทรนด์ วัคซีนไม่มีอะไรมากครับ รีบๆ ฉีดเข้าตัว 1.อย่ารอเลือก 2.คนได้ครบแล้วอย่างกรีบแย่งเข็มสาม เห็นใจคนที่ยังไม่ได้บ้าง ใครอยากได้มาอยู่ในโครงการวิจัยกันครับ 3.ตัวเลขไม่ใช่สาระสำคัญครับคนทั่วไปที่แยกไม่ได้ถึงนัยสำคัญทางสถิตินัยสำคัญทางคลินิกและนัยสำคัญทางสังคมท่านจะแปลผลผิดๆ พลาดๆ ครับ

4.ตัวเลขระดับภูมิคุ้มกันก็เช่นกันครับข้อมูล ณ เวลานี้ ไม่ต้องไปรู้หรืออยากรู้กันเพราะสูงต่ำมีความหมายเท่าไหร่อย่างไร ยังไม่ชัดการที่ว่าระดับต่ำป้องกันไม่ได้ สูงป้องกันได้นั้น ดูจะเหมือนยุคดิจิทัล ขาวดำ 0/1 ไปหน่อย การป้องกันการติด การมีอาการจากโรคนั้นมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้มีหลายโทนของเทาๆ อย่าไปรีบตื่นเต้นเกินเหตุ” นพ.นิธิกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง