รีเซต

คปภ.ชงทางเลือกเคลมโควิด รับเงินสินไหมในอัตราส่วนลด

คปภ.ชงทางเลือกเคลมโควิด รับเงินสินไหมในอัตราส่วนลด
ทันหุ้น
2 พฤษภาคม 2567 ( 14:44 )
12
คปภ.ชงทางเลือกเคลมโควิด รับเงินสินไหมในอัตราส่วนลด

#เจอจ่ายจบ #คปภ.เปิดทางเลือกผู้เคลมประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ขอรับเงินประกันในอัตราส่วนลดแทนที่จะรอเงินเคลมในอนาคต หลังกองทุนประกันวินาศภัยแบกรับภาระหนี้จาก 4 บริษัทประกันภัยที่ปิดกิจการจากการทำประกันโควิด ปัจจุบันมีเจ้าหนี้ถึง 6 แสนราย ภาระหนี้รวมถึง 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ สถานะกองทุนอยู่ในระดับย่ำแย่


นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ในฐานะที่ดูแลกองทุนประกันวินาศภัย ได้มีมติเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ โดยรับเงินเคลมประกันวันนี้ในอัตราส่วนลดแทนที่จะรอเงินเคลมในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เคลมประกันที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงินจากการเคลม เนื่องจาก กองทุนวินาศภัยเหลือเงินในกองทุนน้อยมาก


ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัย มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยรายได้จากกองทุนมาจากเงินนำเงินนำส่งของบริษัทประกันวินาศภัย ในอัตรา 0.5 % ของเบี้ยประกันภัยรับ


*ทางออกไม่ต้องรอนาน

“แทนที่ผู้ขอเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ จะใช้เวลานานเป็น 10ปี เพื่อเคลมประกัน หากต้องการได้เงินในวันนี้เลย มีทางเลือกให้รับในอัตราที่เป็นส่วนลด เช่น สิทธิ์การเคลมประกันที่ 100 บาท อาจลดเหลือ 60 บาท โดยกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเคลมประกัน แทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ปิดกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด แต่ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัย จะจ่ายให้กับผู้เคลมประกัน รายละไม่เกิน 1 ล้านบาทตามกฎหมาย”


แหล่งข่าวจากกองทุนประกันวินาศภัยกล่าวว่า นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนวินาศภัยตั้งแต่ปี 2551 มีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว 14 บริษัท โดยเฉพาะในช่วงโควิด ที่มีการทำประกันแบบเจอ จ่าย จบ และมีการเคลมประกันเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกัน ต้องปิดกิจการลง 4บริษัท คือ 1.บริษัท เอเชียประกันภัย 1950จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)


แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลจากการปิดกิจการของ 4 บริษัทดังกล่าว ทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระต้องชำระหนี้แทนบริษัทประกันวินาศภัยรวมถึง 6 หมื่นล้านบาท และมีเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้ มากถึง 6 แสนราย ขณะที่ ปัจจุบันเงินกองทุนเหลือไม่มากนัก โดยภาระหนี้ดังกล่าว ยังไม่นับรวมกรณีบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย ที่อาจถูกปิดกิจการในอนาคต


อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากองทุนวินาศภัย ได้ดำเนินการชำระหนี้แทนบริษัทประกันวินาศภัย แล้วเสร็จ 3 บริษัท คือ 1.บริษัทศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด(มหาชน) 2.บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)


*ลูกหนี้ 7บริษัทยังรอเคลีย

ส่วนบริษัทที่ยังอยู่ในระหว่างการชำระหนี้อีก 7 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด 2.บริษัท เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด 3.บริษัทเจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 6. บริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 7.บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)


ทั้งนี้ กองทุนวินาศภัยได้อนุมัติการชำระหนี้แทนบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว 8.51 พันล้านบาท มีเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้แล้ว 1.45 แสนราย ปัจจุบันกองทุน มีการพิจารณาอนุมัติชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ 350-400 ล้านบาทต่อเดือน


“กองทุนได้พยายามหาแนวทางเพิ่มแหล่งรายได้ของกองทุน นอกเหนือจากการปรับเพิ่มเงินนำส่งของบริษัทประกันวินาศภัย จาก 0.25 % เป็น 0.50 % แล้ว กองทุนยังได้ยื่นขอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ บรรจุแผนการก่อหนี้ ให้กองทุนในวงเงิน 3 พันล้านบาท และการยื่นของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง