รีเซต

ชาวบ้านรวมตัวประท้วงปิดหน้าโรงงานรีไซเคิลกล่องนมเก่า หลังทนกลิ่นเหม็นนมเน่าและปล่อยน้ำเสีย

ชาวบ้านรวมตัวประท้วงปิดหน้าโรงงานรีไซเคิลกล่องนมเก่า หลังทนกลิ่นเหม็นนมเน่าและปล่อยน้ำเสีย
77ข่าวเด็ด
9 กรกฎาคม 2563 ( 14:53 )
435

ชาวบ้านรวมตัวประท้วงปิดหน้าโรงงานรีไซเคิลกล่องนมเก่า หลังทนกลิ่นเหม็นนมเน่าและปล่อยน้ำเสียมานานหลายปี เคยร้องเรียนไปทางโรงงานก็ปรับปรุงได้ไม่กี่เดือน สุดท้ายก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 11 ตำบลบางเสาธง และ หมู่ 8 ตำบลศีรษะจระเข้ใหญ่  อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กว่า 50 คนได้พากันรวมตัวเดินทางประท้วงที่หน้า บริษัท ไฟเบอร์พลัส จำกัด  ซึ่งเป็นโรงงานรับรีไซเคิลขยะจากกล่องนม พร้อมนำป้ายซึ่งมีข้อความว่า “ ช่วยพวกเราด้วย โรงงานปล่อยน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็นเน่า เป็นแบบนี้มานานแล้ว พวกชาวบ้านเขาเดือดร้อน โปรดช่วยหาทางแก้ มาทำการปิดทางเข้าออกของบริษัทดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบว่าโรงงานรีไซเคิลดังกล่าวเป็นโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 14 ไร่ พบว่าภายในโรงงานดังกล่าวมีกล่องนมเก่าที่นำมากองรอการรีไซเคิลอยู่ภายในโรงงานนับหมื่นตัน ส่งกลิ่นเหม็นเน่าของนมบูดฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ขณะที่ภายในสาธารณะที่อยู่ด้านข้างของโรงงาน ซึ่งปกติชาวบ้านจะใช้น้ำในคลองดังกล่าวประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลาและทำการเกษตร แต่ในปัจจุบันไม่สามารถใช้น้ำในคลองดังกล่าวในการประกอบอาชีพได้ ต้องรอให้ฝนตกลงมาและกักน้ำเอาไว้เพื่อทำการเกษตรและเพาะเลี้ยงปลา

นายประดิษฐ์ หอมกลิ่นเทียน อายุ 40 ปี  หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกับโรงงานดังกล่าว กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นเน่า เกิดจากกองขยะจากกล่องนมที่กองรวมกันอยู่ภายในโรงงาน โดยชาวบ้านที่อยู่รอบโรงงานได้รับความเดือนร้อนมาเป็นว่านาน ยิ่งเวลาฝนตกก็เกิดการสะสมของกลิ่นและพัดพากลิ่นไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน โดยได้รับผลกระทบน้ำเน่าเสีย เหม็น ดำ  โดยชาวบ้านในละแวกดังกล่าวเป็นเกษตรกร เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ไม่สามารถนำน้ำในลำคลองมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนผู้สูงอายุแลผู้ป่วยก็ได้รับกลิ่นเหม็นของกองกล่องนมที่ลมพัดไป โดยโรงงานดังกล่าวเปิดมาเป็นเวลากว่า 10  ปีแล้ว โดยชาวบ้านก็ได้มีการเรียกร้องกับโรงงานดังกล่าว เรื่องกลิ่นและน้ำเน่าเสีย แต่ไม่นานกลิ่นและน้ำเสียก็มาอีก โดยทางชาวบ้านได้ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขอย่างที่ควร โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะเลี้ยงปลาและใช้น้ำจากคลองบางน้ำขาว ซึ่งปกติชาวบ้านได้ใช้น้ำจากคลองดังกล่าวในการเกษตรและเลี้ยงปลา แต่หลัง ๆ มาไม่สามารถใช้น้ำจากคลองดังกล่าวได้เลย

ด้านนายสุรชัย  แซ่จิว อายุ 59 ปี ประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิ์ภาพการผลิตสินค้าทางการเกษตร  ซึ่งศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ติดกับโรงงานดังกล่าวและได้รับผลกระทบโดยตรง ได้กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้สร้างมานานกว่า 10 ปี แล้วซึ่งตอนแรกที่มาสร้างเขาแจ้งว่าเป็นโรงงานรีไซเคิลกระดาษ แต่พอมาทำแล้วกลับพบว่ามีมลพิษมีผลกระทบกับชาวบ้านรอบข้าง โดยเฉพาะตนที่อยู่ใกล้ ๆ ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งตนก็เคยแจ้งไปทางโรงงานเป็นระยะ ๆ ว่า มีน้ำเน่าเสียภายในโรงงานล้นลงมาในคลองสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลาและทำการเกษตร ที่มีอยู่กว่า 200 กว่าไร่ ซึ่งทางโรงงานก็รับปากว่าจะแก้ไข จนมาถึงในปัจจุบัน 7-8 ปี แล้วก็ยังเหมือนเดิมและไม่มีการแก้ไข จนมาถึงวันนี้ชาวบ้านทนกันไม่ไหวจากกลิ่นด้วยและน้ำเสีย ที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน ชาวบ้านเลยมารวมตัวกันเรียกร้องให้โรงงานออกมาแก้ไขทั้งปัญหาน้ำเน่าเสียและกลิ่นเหม็นเน่าของนมบูด มันเหม็นมากและดมไปมาก ๆ ก็จะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน คือมันเหม็นไม่ธรรมดา และตนเองก็เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ซึ่งก็จะมีพี่น้องชาวเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศ แรก ๆ ก็มีเกือบ 5 พันคน แต่พอมาหลังก็เริ่มลดลง เนื่องจากทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว จนกระทั้งล่าสุดเมื่อปลายปีตนต้องปิดรับคนที่จะเดินทางมาเรียนรู้ที่ศูนย์ เนื่องจากกระทบกับกลิ่นเหม็นที่รุนแรงมาก พี่น้องชาวเกษตรกรที่มีกว่า 200 ไร่ได้รับผลกระทบอย่างหนักใช้น้ำในลำคลองไม่ได้ อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยลงมาดูแลและช่วยกันแก้ไข โรงงานอยู่กับชุมชนได้ และชาวบ้านก็อยู่กับโรงงานได้ ถ้าเรามาปรึกษาหาทางแก้ไขร่วมกัน ตัวเองผลิตสินค้ามาเพื่อเป็นรายได้ของตนเอง และพี่น้องชาวเกษตรกร ก็ต้องการผลิตผลของตัวเองเพื่อประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ก็อยากให้โรงงานเร่งปรับปรุงแก้ไขและลงมาดูแลประชาชนรอบข้างด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง