รีเซต

โควิด-19 : ลำไยไทยในวิกฤตไวรัส เมื่อจีนไม่ขยับ เกษตรกรไทยจะอยู่อย่างไร

โควิด-19 : ลำไยไทยในวิกฤตไวรัส เมื่อจีนไม่ขยับ เกษตรกรไทยจะอยู่อย่างไร
บีบีซี ไทย
30 เมษายน 2563 ( 14:29 )
257
1
โควิด-19 : ลำไยไทยในวิกฤตไวรัส เมื่อจีนไม่ขยับ เกษตรกรไทยจะอยู่อย่างไร

Getty Images

"ทำลำไยมาสิบกว่าปี ก็ดีมาตลอดนะ เพิ่งจะมาสองปีก่อนนี้ ที่ไม่ได้กำไรเพราะค่าเงินหยวนผันผวน แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ เพราะมันยังมีปีต่อ ๆ ไปให้หวังได้อยู่ แต่ปีนี้ยังคิดไม่ออก ทุกอย่างหยุดหมด" กาญจนา พงศ์พฤกษทล เจ้าของโรงอบลำไยในจังหวัดลำพูน แหล่งปลูกลำไยมากที่สุดของประเทศบอกกับบีบีซีไทย

 

สิ่งที่ทำให้ผู้มากประสบการณ์ในวงการลำไยอย่างกาญจนา "คิดไม่ออก" ในปีนี้ คือภัยแล้งที่รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และ จีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย ยังไม่เปิดคำสั่งซื้อเข้ามา ขณะที่การระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังแพร่ไปทั่วโลก

 

รายงานของส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ไทยเป็นผู้ผลิตลำไยมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และส่งออกลำไยรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งในรูปผลสด แช่แข็งและอบแห้ง


จากข้อมูลปี 2561 ประเทศไทยส่งออกลำไยมูลค่ารวม 2.77 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปจีนและบางส่วนผ่านเวียดนามเข้าสู่จีน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย ในด้านผลผลิตประเทศไทยผลิตลำไยมากถึง 1.056 ล้านตัน

 

ลูกค้าพักชำระหนี้

กาญจนาบอกว่าเพิ่งขายลำไยอบแห้งลอตสุดท้ายออกไปเมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็เป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงัก ลูกค้าเงินเชื่อที่มีกำหนดต้องชำระค่าสินค้าที่ซื้อจากโรงงานของเธอก็หยุดชำระหนี้ไปด้วยเพราะไม่สามารถขายสินค้าที่ซื้อไปได้ในจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของโรงงานอยู่พอสมควร

 

โรงงานของกาญจนาไม่ได้เป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวที่ได้รับผลกระทบนี้ เธอเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีโรงงานอบลำไยอีกหลายแห่งที่ประสบปัญหาเดียวกันกับโรงงานของเธอ ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินในระบบ ทำให้ธนาคารที่เคยปล่อยกู้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวลำไยเกิดความกังวล และยังไม่มีทีท่าว่าจะปล่อยกู้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

"ตอนนี้ปัญหาคือ พอลูกหนี้ของเราไม่ชำระหนี้ ก็ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของพวกเรา ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารเกิดความกังวลต่อธุรกิจลำไยอบแห้ง การปล่อยกู้ก็น้อยลง มันก็ส่งผลต่อกำลังซื้อของโรงงาน ที่จะไปซื้อลำไยจากเกษตรกรมาอบ" เธอกล่าว

 

BBC

 

ผลผลิตเพิ่มแต่คำสั่งซื้อยังไม่มา

สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ ไว้เมื่อต้นปี 2563 ว่า ในปีนี้ จะมีลำไยออกสู่ตลาดราว 1.044 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.011 ล้านตันในปี 2562 และคาดว่าจะมีการส่งออกลำไยสดและแปรรูปในปี 2563 ที่ 815,020 ตัน

 

ปริมาณการส่งออกลำไยและผลิตภัณฑ์แปรรูปของไทยตั้งแต่ปี 2558 - 2562 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 5.53 แสนตัน ในปี 2558 เป็น 7.43แสน ตันในปี 2562

 

กาญจนาเล่าว่า ในหนึ่งปี โรงงานอบลำไยเปิดเตาอบลำไยต่อเนื่องแค่ 2-3 เดือน คือระหว่าง กรกฎาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงลำไยในฤดูกำลังออกผล ที่ผ่านมา ไม่ว่าเกิดเหตุอะไร โรงงานก็อยากอบ แต่ในปีนี้ ไม่มีอะไรรับประกันว่า อบแล้วจะขายได้ เพราะยังไม่มีคำสั่งซื้อจากจีนเข้ามา

 

"โรงงานสามารถอบลำไยได้ 300 ตันต่อวัน ซึ่งใช้เงิน 4-5 ล้านบาทต่อวันในการอบ ในหนึ่งฤดูเราจะสามารถอบลำไยได้ 2 เดือน โดยทำการอบทุกวัน คิดดูว่าต้นทุนจะเป็นเท่าไร ถ้าปีนี้ลำไยออกมา เรารับมาอบ แต่ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ ไม่มีใครสามารถแบกต้นทุนตรงนี้ได้ไหว"

 

กาญจนาเล่าเพิ่มเติมอีกว่า 2 ปีมานี้โรงงานขนาดเล็กทยอยปิดตัวลง เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว และถ้าปีนี้เปิดโรงงานไม่ได้ คงมีโรงงานอีกหลายโรงที่ต้องปิดตัวลงอีก แต่ในส่วนของโรงงานของเธอนั้น เธอคิดว่าจะสู้ต่อไป ยังมีความหวังว่าจะสามารถเปิดโรงงานในฤดูลำไยนี้ได้ เพราะ เป็นห่วงเกษตรกรว่า ถ้าไม่มีโรงงานรับซื้อ เกษตรกรจะขายลำไยให้ใคร

 

ตามรายงานของ ธปท. ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่การปลูกลำไยมากถึง 1.139 ล้านไร่ มีเกษตรกรเกี่ยวข้องกว่า 200,000 ครัวเรือน อยู่ในภาคเหนือราว 70% ภาคตะวันออก 28% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2%

 

"แล้วแต่บุญแต่กรรม"

บุญธรรม ใจอุโมงค์ ยึดอาชีพเป็นเกษตรกรชาวสวนลำไยที่จังหวัดลำพูนร่วม 20 ปี หลังปลูกพืชผักสวนครัวมาก่อน เขาผันตัวมาปลูกลำไยเพราะราคาที่เคยสูงถึงกิโลกรัมละ 50 บาท

 

ช่วง 10 ปีแรกที่ปลูกลำไย บุญธรรมเล่าว่า ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศ ฝนมาตามฤดู หน้าแล้งก็ไม่แล้งรุนแรง มีน้ำพอใช้ตลอดทั้งปี แต่มาใน 10 ปีหลัง เขาเจอปัญหาราคาผันผวน และใน 5 ปีหลัง ปัญหาใหญ่คือ ขาดน้ำธรรมชาติทำให้ต้องเจาะน้ำบาดาลลงไปถึง 80 เมตร เพื่อนำมารดต้นไม้ได้ตลอดปี ส่วนปีนี้ น้ำในคลองชลประทานแห้งไปตั้งแต่เดือนมีนาคม

 

 

โดยเฉลี่ยแต่ละปี บุญธรรมสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากถึง 20 ตัน บนพื้นที่สวนลำไย 10 ไร่ ปีที่ผ่านมาเขามีรายได้จากการขาย ประมาณ 150,000 บาท สำหรับปีนี้ เขาหวังว่าจะได้รายได้ไม่ต่างจากปีที่แล้ว แม้กังวลว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ขายผลผลิตไม่ได้

 

"หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอนาคต...แต่ถ้าทุกอย่างไม่ดีขึ้น...ขายได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมก็แล้วกัน ทำอะไรไม่ได้แล้ว"

 

"ขายไม่ได้ก็แจก"

ถวิล เสาอุโมงค์ ข้าราชการบำนาญที่เพิ่งผันตัวมาทำสวนลำไยในลำพูนแทนพ่อได้ไม่นานเล่าว่าสมัยรุ่นพ่อลำไยราคาดีมาก น้ำจากระบบชลประทานก็มีส่งมาเลี้ยงที่สวนลำไยไม่เคยขาด เพิ่งจะมาเริ่มมีปัญหาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องลงทุนขุดบ่อบาดาล เพราะน้ำจากคลองชลประทานมีไม่เพียงพอให้ใช้ได้ตลอดปี น้ำใต้ดินจึงเป็นแหล่งน้ำหลักในช่วงเวลาที่ลำไยกำลังติดลูก ตั้งแต่เดือนมีนาคม

 

สวนลำไยของถวิลมีพื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ ให้ผลผลิตต่อปีได้มากถึง 30 ตัน ซึ่งในปีที่ผ่านมา เขามีรายได้จากการขายลำไยถึง 200,000 บาท "ถือว่าคุ้ม" กับการดูแลต้นลำไยตลอดทั้งปี

 

"ที่สวนนี้จะเน้นขายเป็นแบบเกรดลำไยร่วงทั้งสวน ได้ราคาต่ำหน่อย แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุน จ้างคนงานไม่เกินสามคนต่อวัน ไม่ต้องเสียเวลาคัดเกรดเองด้วย ซึ่งช่วยลดต้นทุนไปได้มาก" เขาเล่า

 

ส่วนผลผลิตและรายได้ในปีนี้ ในภาวะที่โควิค-19 ยังไม่มีทีท่าจะซาง่าย ๆ ถวิลตอบว่า "ขายได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ดีกว่าไม่ได้ขายเลย หรือสุดท้ายถ้าขายไม่ได้เลย ก็เก็บแจก เพราะถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และยังปิดเมืองโดยไม่มีมาตรการรองรับที่ดีกว่านี้ คงมีคนออกมาขอข้าวกินมากกว่านี้ หวังว่าลำไยของผมคงพอจะช่วยให้คนได้มีผลไม้ดีดีกินบ้าง"

 

ความช่วยเหลือจากรัฐ

บีบีซีไทยสอบถามไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูนถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยและผู้ประกอบการลำไยอบแห้ง ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการเยียวยา แต่มีมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับผลผลิตของลำไยลำพูนที่จะออกมาในปีนี้ ดังนี้

 

  • จัดให้มีการเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า โดยใช้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายในจํานวน 8 คู่สัญญา ปริมาณลําไย 2,650 ตัน
  • เชื่อมโยงร้านธงฟ้า และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 700 อําเภอ ใน 65 จังหวัด
  • โครงการสนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลําไย เพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิตจังหวัดลําพูน โดยมีเป้าหมายที่ปริมาณ 300 ตัน
  • โครงการชดเชยดอกเบี้ย และจุดรวบรวมลําไยสดเพื่อแปรรูป (ลําไยอบแห้ง) โดยในปี 2563 จังหวัดลําพูนมีเป้าหมายการรับซื้อผลผลิตที่ 6,000 ตัน
  • คัดเลือกและสนับสนุนผู้ประกอบการค้าผลไม้จากเกษตรกร เพื่อคัดแยก/คัดคุณภาพ บรรจุผลไม้ในบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและส่งสินค้าไปยังตลาดปลายทางได้ รวมทั้งประสานกับผู้ค้าทางสื่อออนไลน์ เช่น ตามแผนผลักดันการกระจายผลไม้เกรดพรีเมี่ยมผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศ

 

ล่าสุดเมื่อ 28 เม.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อนุมัติมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว โดยจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย

 

  • กลุ่มแรก ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย
  • กลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง