รีเซต

HENG เปิดแผนปี 65 ชูเทคโนโลยี พร้อมบุกตลาดสินเชื่อดิจิทัล ขอมติผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้ 2 พันล้าน พร้อมจ่ายปันผล 0.01 บาท

HENG เปิดแผนปี 65 ชูเทคโนโลยี พร้อมบุกตลาดสินเชื่อดิจิทัล ขอมติผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้ 2 พันล้าน พร้อมจ่ายปันผล 0.01 บาท
มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 12:07 )
55

ข่าววันนี้ นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปีนี้จะนำเทคโนโลยีด้านไอทีเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสินเชื่อและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า หลังได้ลงทุนพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทรัพยากรเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการขยายตัว โดยพัฒนาซอฟแวร์พิสูจน์ยืนยันตัวตน หรือ KYC ช่วยพิจารณาสินเชื่อที่เหมาะสม รวดเร็ว ด้วยต้นทุนให้บริการที่ลดลง พร้อมเพิ่มความสามารถควบคุมและบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs เหลือ 3.1% จาก ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.4% นอกจากนี้จะนำฐานข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์วางแผนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย สร้างโอกาสให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่โปร่งใสและเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนให้บริการผลิตภัณฑ์ใหม่คือ สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านระบบดิจิทัล (Digital Personal Loan) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ HENG ในการขยายฐานลูกค้าผลักดันการเติบโตในระยะยาว

 

ขณะเดียวกัน จะมุ่งเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองจากปัจจุบันที่มีกว่า 5,100 ราย เพื่อส่งเสริมแผนดำเนินงานของ HENG ในปีนี้ ซึ่งมุ่งขยายสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ) อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อดังกล่าวเป็น 55-60% ของพอร์ตรายได้รวม จากเดิมมีสัดส่วน 32% พร้อมผลักดันรายได้กลุ่มธุรกิจให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตผ่านเครือข่ายสาขาให้แก่บริษัทประกัน รองรับประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันใช้ป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการขยายพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) เพื่อตอบสนองความต้องการแหล่งเงินทุนนำไปประกอบอาชีพอิสระในช่วงจังหวะเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวที่ดี

 

บริษัทฯ ยังเร่งขยายสาขาเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง เน้นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ให้แล้วเสร็จภายในต้นไตรมาส 2/2565 จากเดิมเมื่อสิ้นปี 2564 มีสาขาทั้งหมด 529 แห่ง ส่งผลให้ ‘เฮงลิสซิ่ง’ จะมีสาขารวมทั้งหมดกว่า 630 สาขาทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อของ HENG เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่น ส่งผลดีต่อการขยายพอร์ตสินเชื่อโดยรวมในปีนี้ให้เติบโต 30% ได้ตามแผน

 

นางสุธารทิพย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็วตามแผน HENG เตรียมความพร้อมการออกหุ้นกู้ในวงเงินหมุนเวียนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยเป็นการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากการจัดหาโดยการกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจและโอกาสทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยในสิ้นปี 2564 บริษัทฯ พึ่งพิงการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในสัดส่วน (D/E Ratio) 1 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ยังมีสัดส่วนความสามารถในการจัดหาเงินเพื่อใช้ในการขยายตัวทางธุรกิจอีกหลายเท่าของจำนวนเงินกู้ยืมธนาคารในปัจจุบัน

 

 

ดร.ธีรวัฒน์ ธวัลรัตน์โภคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน HENG กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ตั้งงบลงทุนปีนี้กว่า 120 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานรองรับการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อให้เป็นไปตามแผน หลังจากปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าได้ดีกว่าเป้าหมาย ทำให้พอร์ตสินเชื่อโดยรวมอยู่ที่ 9,180.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% และทั้งนี้บริษัทฯ ยังให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ที่ 2,598.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.3 มีรายได้จากรวม 1,644.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับปี 2563

 

โดยสัดส่วนรายได้หลัก 89.8% มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สาเหตุเพราะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังปรับกลยุทธ์มุ่งขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ด้วยการใช้จุดแข็งทางเครือข่ายพันธมิตรผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองช่วยแนะนำผลิตภัณฑ์และส่งต่อลูกค้ามายังสาขา ‘เฮงลิสซิ่ง’ ส่วนผลิตภัณฑ์เช่าซื้อรถยนต์มือสองก็มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์การบริหารพอร์ตสินเชื่อของทางบริษัทฯ

 

ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำสัดส่วนรายได้ 10.2% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเอนกประสงค์สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ประจำ และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยที่นำไปประกอบอาชีพ ซึ่งมีผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับการบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ที่ดีต่อเนื่อง

 

ดร.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ภาพรวมอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Yield on Loan) โดยเฉลี่ยในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 16.9% เป็นผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 353.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งนับเป็นกำไรสูงที่สุดของบริษัทฯ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานในปี 2564 ในอัตรา 0.01 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นอกจากนี้ยังได้เตรียมขอมติผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินหมุนเวียนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดลงมติในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ในวันที่ 20 เมษายน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง