รีเซต

จับตาโควิดสายพันธุ์ดุในไทย เชื้ออินเดีย ทะลุสองร้อย โผล่อุดรงานบายศรี

จับตาโควิดสายพันธุ์ดุในไทย เชื้ออินเดีย ทะลุสองร้อย โผล่อุดรงานบายศรี
ข่าวสด
7 มิถุนายน 2564 ( 12:51 )
99
จับตาโควิดสายพันธุ์ดุในไทย เชื้ออินเดีย ทะลุสองร้อย โผล่อุดรงานบายศรี

 

ข่าววันนี้ 7 มิ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการแถลงข่าว "การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ในประเทศไทย” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 มี 2 ระดับ คือ 1. สายพันธุ์ที่เราสนใจ ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และ 2. สายพันธุ์ที่ห่วงกังวล มีหลักฐานว่าแพร่เร็ว อันตรายเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันอาจจัดการไม่ได้ หรือวัคซีนอาจเอาไม่อยู่ ซึ่งเดิมมีการเรียกสายพันธุ์จากสถานที่ที่พบ จึงเกิดปัญหาเรื่องตีตราสถานที่ องค์การอนามัยโลกจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อใหม่แทน เช่น สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) แกมมา (บราซิล) และเดลตา (อินเดีย) เป็นต้น ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์ตรวจสายพันธุ์ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ จำนวน 3,964 ราย พบเป็นสายพันธุ์จีที่เคยระบาดน้อย ที่เจอมากสุด 90% หรือประมาณ 3,500 กว่าราย คือ อัลฟา (อังกฤษ)

 

 

 

"ปัจจุบันสายพันธุ์อัลฟาครองเมืองอยู่ แต่มีสายพันธุ์ที่เริ่มโผล่ขึ้นมา คือ เดลตา (อินเดีย) ที่ตรวจพบครั้งแรกในแคมป์คนงานหลักสี่ ตรวจเจอ 230 กว่าราย คิดเป็น 6% กทม.เจอเยอะสุด 206 ราย นอกจากนี้ ยังมีนนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย เชื่อมโยงคนงานหลักสี่เดินทางไป สระบุรี 2 ราย อุดรธานี 17 ราย นครราชสีมา 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย และสมุทรสงคราม 1 ราย

 

ภาคใต้ยังไม่ค่อยมี สะท้อนให้เห็นว่าจากแคมป์หลักสี่กระจายไปบริเวณอื่น กทม.และต่างจังหวัด ภาพแบบนี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้น แต่อยากเห็นว่ามีการกระจายไปไหนบ้าง อย่างที่เจอเยอะ คือ อุดรธานี ก็กำลังสอบสวนโรคว่าเชื่อมโยงกับแคมป์หลักสี่มากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นการตรวจพบจากคลัสเตอร์บายศรีสู่ขวัญ" นพ.ศุภกิจกล่าว

 

 

 

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) เริ่มต้นจากการข้ามมาจากมาเลเซียอยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนถึงวันนี้ตรวจเจอ 26 ราย มีการตรวจจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง แต่ยังพบอยู่ที่นราธิวาสอย่างเดียว แต่วางใจไม่ได้ ต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด แพร่ออกมาข้างนอกช้าสุด นอกจากนี้ ยังเจอสายพันธุ์ B.1.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สนใจของประเทศเพื่อนบ้าน เจอในนราธิวาสและปัตตานี 10 ราย แต่0ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล ต้องจับตาดูข้อมูลเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ การตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจะได้ข้อมูลละเอียด ทำให้ตรวจสอบสายตระกูลความชื่อมโยง ว่าต้นตระกูลมาจากไหน จะได้รู้เส้นทางการมาของสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะแต่ละประเทศไม่ได้มีศักยภาพในการถอดรหัสพันธุกรรมได้ทุกประเทศ โดยสรุปตอนนี้บ้านเรายังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เริ่มมีเดลตา (อินเดีย) ขึ่้นมาบ้าง ต้องช่วยกันควบคุมดูแล ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) อยู่ที่ตากใบไม่พบในพื้นที่อื่น

 

ดร.วสันต์ กล่าวว่า การถอดรหัสพันธุกรรมโควิด 19 มีรหัส 3 หมื่นรหัส ถ้าพิมพ์ในกระดาษเอ4 จะได้ 10 หน้า แต่เป็นรหัสพันธุกรรมที่ค่อนข้างสั้น ทั่วโลกมีการถอดรหัสพันธุกรรมแล้วนำเข้าระบบเซอฟ์เวอร์ของโลก เพื่อนำมาแบ่งปันและตรวจสอบข้อมูลกัน มีแอปพลิเคชันมากมายช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ประโยน์ที่ได้ คือการป้องกัน เช่น กรณีตากใบพบเป็นเบตา (แอฟริกาใต้) ก็รู้เส้นทางจากใต้ขึ้นมาตากใบ หากเป็นสายพันธุ์อัลฟา การควบคุมจะเป็นอีกแบบ เพราะแสดงว่าไวรัสจากส่วนกลางลงไปถึงตากใบแล้ว เป็นต้น

 

ซึ่งตากใบมีความน่าสนใจ คือ เราตรวจถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเบตา (แอฟริกาใต้) ส่วนน้อยเป็นอัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 1% จากการสอบถามเข้าไปในพื้นที่ พบว่า การกระจายหรือแพร่สู้อัลฟาไม่ได้ นอกจากนี้ การถอดรหัสมีประโยชน์เพื่อการรักษาด้วย รวมถึงประโยชน์ในการตรวจเรื่องสายพันธุ์ลูกผสม อังกฤษกับอินเดีย หรือโคอินเฟกชั่น ติดสองสายพันธุ์ในคนเดียวกัน หรือการตรวจเป็นซากไวรัสหรือไม่เป็นการกระบวนการในการช่วยการรักษา

 

"ตอนนี้ที่ตรวจวินิจฉัยมีอัลฟา เบตา แกมมา เดลตา (อินเดีย 2) และ แคปปา (อินเดีย 1) และสายพันธุ์ท้องถิ่น 3 ตัว คือ B.1.1.524 มาจากทางใต้ เราพบคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย สายพันธุ์ A.6 ที่เคยครอบครองพื้นที่ประเทศไทยมาระยะหนึ่งเมื่อปีที่แล้วแต่สาบสูญไปแล้ว ซึ่งแต่ละสายพันธุ์คงอยู่ดับไปประมาณ 6 เดือนมีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งอัลฟาอาจถูกแทนที่ด้วยเดลตาหรืออินเดีย ที่น่ากังวลใจเพราะในอังกฤษเอง เดลตาเริ่มมาแทนอัลฟา

 

โดยเดลตาการระบาดรวดเร็วกว่าอัลฟา 40% ต้องจับตามอง และ B1.36.16 ที่เคยระบาดระลอก 2 ปทุมธานี สมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ระลอก 3 เห็นชัด ทำให้แต่ละสายพันธุ์เริ่มมีเวชปฏิบัติแตกต่างกัน บางสายพันธุ์ต้องให้ยาก่อนหรือไม่ เป็นต้น" ดร.วสันต์กล่าวและว่า การถอดรหัสและส่งข้อมูลเข้าฐานกลางของโลก ทำให้จุดทศนิยมของชื่อมีการเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ อาจเป็นสายพันธุ์เดียวกัน จึงมีการเปลี่ยนการเรียกชื่อสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง