รีเซต

สหรัฐฯ พลิกลิ้มปมไต้หวัน? วันก่อนบอกยึดมั่นหลัก ‘จีนเดียว’ วันนี้ กร้าวปกป้องไต้หวัน หากจีนโจมตี

สหรัฐฯ พลิกลิ้มปมไต้หวัน? วันก่อนบอกยึดมั่นหลัก ‘จีนเดียว’ วันนี้ กร้าวปกป้องไต้หวัน หากจีนโจมตี
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2564 ( 14:04 )
177
สหรัฐฯ พลิกลิ้มปมไต้หวัน? วันก่อนบอกยึดมั่นหลัก ‘จีนเดียว’ วันนี้ กร้าวปกป้องไต้หวัน หากจีนโจมตี

การประกาศย้ำจุดยืนครั้งล่าสุดนี้ เป็นการตอบคำถามของนักข่าวดังอย่าง แอนเดอร์สัน คูเปอร์ ของสำนักข่าว CNN ในการตอบคำถามแบบทาวน์ฮอลล์ เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (21 ตุลาคม) ว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหรือไม่ หากถูกจีนโจมตี? ซึ่งไบเดนตอบกลับว่า "ใช่ เราให้คำมั่นว่าจะทำเช่นนั้น"


แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่กฎหมายของสหรัฐฯ ก็กำหนดให้ต้องสนับสนุน และช่วยเหลือความพยายามของเกาะแห่งนี้ในการปกป้องตนเอง รวมถึงผ่านการขายอาวุธให้ด้วย


แต่ก็ยังคงมีความ 'คลุมเครือ' มานานแล้วว่า สหรัฐฯ จะทำอย่างไร หากจีนโจมตีไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกกันว่าเป็น "ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์"


◾◾◾

🔴 สหรัฐฯ กลับกลอก หรือเป็นเกมการเมือง


ความคลุมเครือของนโยบายต่อไต้หวันของไบเดน ทำให้เดเรก กรอสแมน นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมอาวุโส แห่ง Rand Corporation เขียนในทวิตเตอร์หลังการให้สัมภาษณ์ของไบเดนว่า "RIP กลยุทธ์ที่คลุมเครือ"


ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เน้นย้ำถึงจุดยืน และนโยบายต่อไต้หวันของคณะทำงานว่า "ไม่เปลี่ยนแปลง"


"ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯและไต้หวัน ยังคงเป็นไปตามราชบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน นั่นคือ จะยังคงให้การสนับสนุนการป้องกันตนเองของไต้หวัน และจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานะเพียงฝ่ายเดียว”


“ประธานาธิบดีจะไม่ประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายถึงเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด"


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไบเดนเคยประกาศว่ายืนหยัดข้างไต้หวัน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ ABC News และทำเนียบขาวก็ต้องออกมาแก้ข่าวให้ภายหลังว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป


◾◾◾

🔴 ผู้นำสหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดจีนมากที่สุด


ไบเดนเคยเรียกตัวเองว่า เป็นผู้นำโลกที่เคยใช้เวลาร่วมกับประธานาธิบดีสี ของจีนมากที่สุดในโลก (นับตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ)


และไบเดนก็เคยย้ำว่าเขาไม่ต้องการเพิ่มความตึงเครียดกับจีน รวมถึงในการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วย


"ผมไม่ต้องการสงครามเย็นกับจีน ผมต้องการให้จีนเข้าใจว่าเราจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม เราจะไม่เปลี่ยนแนวทางของเรา" ไบเดน กล่าว ณ เวที UNGA


◾◾◾

🔴 ปฏิกิริยาจากจีน-ไต้หวัน


ด้านไต้หวัน ก็ออกมาแสดงความเห็นหลังการสัมภาษณ์ของไบเดน โดยย้ำว่า ไต้หวันก็จะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนเองกับจีนเช่นเดียวกัน ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน ระบุว่า จะไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดัน และไม่เร่งรัดใด ๆ เมื่อได้รับการสนับสนุน


"ไต้หวันจะแสดงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะปกป้องตัวเอง" ซาเวียร์ เฉิง โฆษกกระประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าว พร้อมระบุว่า ฝ่ายบริหารของไบเดน ยังคงให้การสนับสนุนไต้หวันอย่าง "แข็งแกร่ง"


ส่วนประเทศจีน ยังไม่ได้ออกมาตอบโต้การให้สัมภาษณ์ของไบเดนแต่อย่างใด


แต่ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน จาง จวิน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ กล่าวหาว่าสหรัฐฯ "ดำเนินการที่เป็นอันตราย และนำไปสุ่สถานการณ์ที่เลวร้ายในช่องแคบไต้หวัน"


ทั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันและจีน รุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่จีนได้ส่งเครื่องบินรบนับร้อยลำเข้าไปในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน


◾◾◾

🔴 ข้อมูลเพิ่มเติม จีน-ไต้หวัน


- เหตุใดจีนและไต้หวันจึงมาสู่ความสัมพันธ์ที่เลวร้าย?


จีนและไต้หวันแบ่งแยกออกจากกันนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองเมื่อยุคปี 1940s นับตั้งแต่ที่ไต้หวันประกาศตัวเป็นอิสระ แต่จีนยังคงมองว่าไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่ง และพร้อมจะใช้กำลังหากจำเป็น


- ไต้หวันปกครองอย่างไร?


ไต้หวันมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง มีการเลือกตั้งผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย และมีกองกำลังราว 300,000 นาย


- ใครยอมรับไต้หวันบ้าง?


มีเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่ยอมรับไต้หวัน และมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกยอมรับรัฐบาลของจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า


สหรัฐฯ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่ก็ดำเนินการขายอาวุธให้กับไต้หวันได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งระบุว่า สหรัฐฯ ต้องให้การสนับสนุนไต้หวันในการปกป้องตนเอง

—————

เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: MANDEL NGAN / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง