รีเซต

"Phage" ไวรัสกำจัดแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ

"Phage" ไวรัสกำจัดแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2565 ( 19:23 )
135

หัวใจหลักของการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) คือ การให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย ทว่า ในปัจจุบันแบคทีเรียดื้อยาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ต้องพัฒนายาใหม่ ๆ ออกมาเพื่อกำจัดเชื้อ หากแต่การพัฒนามิอาจรวดเร็วเท่ากับวิวัฒนาการของแบคทีเรีย การติดเชื้อดื้อยาจึงกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ที่มาของภาพ Unsplash

 


ดื้อยาเพื่อความอยู่รอด


หลังจากการค้นพบยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (Penicillin) โดย เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Sir Alexander Fleming) ในวงการแพทย์ได้นำยาชนิดนี้มาใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างกว้างขวาง และช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมาแล้วหลายต่อหลายราย 


อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียนับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งบนโลกใบนี้ พวกมันต้องการมีชีวิตอยู่รอดเพื่อแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ของตนเอง ในวันแรกที่พวกมันเจอเข้ากับยาปฏิชีวนะ แบคทีเรียกลุ่มที่อ่อนไหวต่อยาอาจจะล้มตายไปบ้างจนเหลือแต่กลุ่มที่ยังสามารถทนทานต่อฤทธิ์ยาได้ แต่พวกมันอาจจะตายในวันที่ 2, 3 หรือ 4 เมื่อได้รับยาอย่างต่อเนื่อง



ที่มาของภาพ Unsplash

 

 

นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมผู้ป่วยโรคติดเชื้อจะเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องจนกว่ายาจะหมด เพราะถ้าหากยังมีเชื้อเหลือรอดอยู่ในร่างกาย พวกมันจะสามารถวิวัฒนาการให้เซลล์ทนต่อยาปฏิชีวนะได้ หรือสร้างเอนไซม์ออกมาทำลายยาได้ เราเรียกแบคทีเรียเหล่านี้ว่า เชื้อดื้อยา (Multiple drug-resistant bacteria หรือในวงการแพทย์นิยมเรียกกันว่า เชื้อ MDR) เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในอดีตแบคทีเรียเกือบทุกชนิดสามารถกำจัดได้โดยง่ายด้วยยาเพนิซิลลิน แต่ในปัจจุบันแทบไม่มีแบคทีเรียตัวไหนที่สามารถกำจัดได้ด้วยยาเพนิซิลลินอีกแล้ว


เมื่อแบคทีเรียดื้อยาชนิดหนึ่งแล้ว นักวิทยาศาสตร์จึงต้องพัฒนายาชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อกำจัดข้อบกพร่องของยาชนิดเดิม ทว่า ยิ่งยาปฏิชีวนะมีความรุนแรงมาก มันก็มีผลข้างเคียงต่อร่างกายมากด้วยเช่นกัน บางครั้งร่างกายของผู้ป่วยอาจทรุดหนักจากยาปฏิชีวนะแทน


ที่มาของภาพ Unsplash

 



เชื้อโรคสู้เชื้อโรค


จะเกิดอะไรขึ้นหากแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิดที่มีอยู่ในตอนนี้ ? คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อและอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ปัจจุบันเริ่มมีรายงานการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะทุกชนิด (Pandrung-resistant bacteria หรือเชื้อ PDR) นั่นหมายความว่า ไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดที่จะสามารถกำจัดหรือยับยั้งเชื้อได้ และสุดท้ายคือการปล่อยให้ผู้ป่วยต้องจบชีวิตลงด้วยการติดเชื้อดังกล่าว


เจอร์รี นิก (Jerry Nick) แพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติยิว ได้รับผู้ป่วยโรคปอดซิสติกไฟโบซิส (Cystic fibrosis) ซึ่งต้องการเข้ารับการปลูกถ่ายปอดใหม่ แต่กลับประสบปัญหาติดเชื้อไมโคแบคทีเรียมดื้อยา (Mycobacterium) และไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดกำจัดได้ นิกจึงเริ่มทดลองรักาาภาวะติดเชื้อด้วยศัตรูตัวฉกาจของแบคทีเรีย นั่นคือไวรัสแบคเทอริโอเฟจ (Bacteriophage virus) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เฟจ (Phage)


ไวรัสแบคเทอริโอเฟจ (Bacteriophage virus)
ที่มาของภาพ Scanpix

 


หากกล่าวว่าแบคทีเรีย คือ เชื้อโรคในร่างกายมนุษย์ ไวรัสแบคเทอริโอเฟจก็คือเชื้อโรคในเซลล์ของแบคทีเรียเช่นกัน ไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปก่อกวนระบบทางชีวเคมีภายในเซลล์ของแบคทีเรีย นำสารอาหาร, พลังงาน และกระบวนการต่าง ๆ มาใช้สร้างไวรัสชุดใหม่ขึ้น จนกระทั่งเมื่อไวรัสเพิ่มจำนวนเต็มที่แล้ว พวกมันจะทำให้เซลล์แบคทีเรียแตก ปล่อยกระจายไวรัสออกไปสู่สิ่งแวดล้อมเพื่อติดเชื้อในแบคทีเรียเซลล์อื่นต่อไป


นิกใช้หลักการนี้ในการกำจัดแบคทีเรียให้แก่ จอห์นสัน หนุ่มน้อยวัย 26 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคปอดซิสติกไฟโบรซิส และจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายปอดชุดใหม่ที่ได้รับบริจาค อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะมีปอดที่ได้รับบริจาคอยู่แล้ว แต่สถานพยาบาลกว่า 3 แห่งปฏิเสธที่จะรักษาให้แก่จอห์นสัน เนื่องจากปอดดั้งเดิมของเขาพบปัญหาการติดเชื้อไมโคแบคทีเรียม ด้วยเหตุนี้นิกจึงต้องกำจัดเชื้อแบคทีเรียวายร้ายให้หมดไปเสียก่อน แล้วจึงจะสามารถปลูกถ่ายปอดให้แก่จอห์นสันได้


ที่มาของภาพ Indian Journal of Critical Care Medicine

 


ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าการปล่อยไวรัสเข้าไปในร่างกายจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยหรือไม่ ? คำตอบคือ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเฟจที่ใช้ในการรักษาเป็นไวรัสก่อโรคในแบคทีเรีย จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ นอกจากนี้ พวกมันสามารถกำจัดแบคทีเรียได้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะถูกภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายไปจนหมด ดังนั้น เมื่อภารกิจในการกำจัดแบคทีเรียของเฟจเสร็จสิ้นแล้ว ร่างกายของมนุษย์จะสามารถกำจัดไวรัสนี้ออกได้ด้วยภูมิคุ้มกัน


หลังจากการรักษากว่า 200 ด้วยเฟจร่วมกับยาปฏิชีวนะ ร่างกายของจอห์นสันก็ปราศจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและพร้อมเข้ารับการปลูกถ่ายปอดชุดใหม่ การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้เฟจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคติดเชื้อดื้อยา อย่างน้อยก็อาจช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้จนกว่าจะมีการพัฒนาปฏิชีวนะชนิดใหม่ขึ้นมา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง