รีเซต

“กลไกตลาด” ตัวขับเคลื่อนราคาสินค้าปศุสัตว์

“กลไกตลาด” ตัวขับเคลื่อนราคาสินค้าปศุสัตว์
มติชน
3 มีนาคม 2565 ( 14:19 )
67

การดูแลราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย มักให้ความสำคัญกับเกษตรกรพืชไร่ จนมองข้ามเกษตรกรในภาคปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร เราจึงได้เห็นรัฐโชว์ผลงานการยกระดับราคาธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลใดโชว์ว่าสามารถทำให้ราคาไข่ไก่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หรือมีผลงานที่ทำให้เนื้อหมู-เนื้อไก่มีราคาดี … ในทางกลับกัน เกษตรกรภาคปศุสัตว์กลับถูก “ตรึงราคาขาย” หรือบังคับให้ขายในราคาควบคุม ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะการหนุนหรือส่งเสริมให้พวกเขามีต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่สูง จากราคาพืชผลที่แพงขึ้น แต่วางขีดจำกัดให้ขายได้ในราคาควบคุม เท่ากับเป็นการบอนไซผู้เลี้ยงสัตว์ และไม่ส่งเสริมให้ภาคเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งน่าเห็นใจ เพราะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากสงครามยูเครน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นเป็น 12.75 บาท/กก. จากราคา 8.91 บาท/กก.ในปี 2564 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย พุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาท/กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาท/กก. ซ้ำเติมราคาที่สูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก ส่งผลให้เกษตรกรภาคปศุสัตว์ ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไก่ไข่ และอื่นๆ ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น เป็นภาระหนักของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือการถูกบังคับให้ขายในราคาควบคุม

 

จากแนวคิดของ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ ที่เคยกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร รัฐไม่ควรเลือกอุดหนุนเฉพาะสินค้าเกษตรตัวใดตัวหนึ่ง และในระยะยาวรัฐต้องสร้างสมดุลโครงสร้างภาคการเกษตร

 

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสร้างสมดุลโครงสร้างภาคการเกษตร แม้จะดูเป็นเรื่องยากแต่อย่างน้อยรัฐควรเริ่มจากการพิจารณาภาคเกษตรให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เนื่องจากการคุมราคาขายเฉพาะปลายทางของเกษตรกรที่อยู่ปลายห่วงโซ่เช่นนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของอาชีพเกษตรกร ดังเช่นที่มีเกษตรกรรายย่อยหลายรายตัดสินใจเลิกเลี้ยงสัตว์ในช่วงนี้ เนื่องจากรับภาระขาดทุนต่อไปไม่ได้

 

ทางออกที่ดีคือ รัฐควรนำกลไกตลาดกับการบริหารจัดการราคาแบบยั่งยืนมาใช้ โดยให้หลักอุปสงค์-อุปทาน ทำหน้าที่ควบคุมราคาขายเอง ถ้าของมีมาก ความต้องการน้อย ราคาก็ถูก ถ้าของมีน้อย ราคาแพง ผู้บริโภคก็เลี่ยงและไม่ซื้อ ในที่สุดราคาก็จะลดลงเอง ดังเช่นที่นำไปบริหารจัดการกับสินค้าสุกรและทำให้ราคาสุกรลดลงเข้าสู่ภาวะสมดุลได้สำเร็จ


ขอย้ำว่า “กลไกตลาด” จะทำหน้าที่ของมันเองได้อย่างไม่บกพร่อง ขณะเดียวกันหน้าที่ของรัฐก็ไม่ใช่การควบคุมราคาหรือตรึงราคาขายสินค้าเกษตร แต่รัฐควรปรับตัวเป็นผู้หาตลาดรองรับให้เกษตรกร และสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรถูกลง เพื่อให้เขามีกำไรและสามารถผลิตเนื้อสัตว์ต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตที่ป้อนตลาดนั้นสม่ำเสมอ และเป็นทางออกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง