รีเซต

วันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน ที่มาของวันคุ้มครองผู้บริโภค

วันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน ที่มาของวันคุ้มครองผู้บริโภค
TrueID
15 กุมภาพันธ์ 2566 ( 13:31 )
94

วันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน ของทุกปี  วันนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมาของผู้ประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งจุดเริ่มต้นของวันผู้บริโภคมากจากรัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรีพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น พร้อมกับพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองบริโภคเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา 

 

วันคุ้มครองผู้บริโภค 

ที่มาของวันคุ้มครองผู้บริโภค

ภายหลังรัฐสภามีมติเอกฉันท์ให้เป็นกฎหมายได้ จึงได้นำร่างขึ้นบังคมทูลและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลการใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 โดยกำหนดให้ "วันคุ้มครองผู้บริโภค" ตรงกับวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี

ขณะที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ให้เหตุผลไว้ว่า เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า และธุรกิจโฆษณา ได้นำวิชาการทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่ทราบภาวะตลาดและความจริงเกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

วัตถุประสงค์ของกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้บริโภค

  1. กำหนดสิทธิของผู้บริโภค
  2. กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาต่อผู้บริโภค เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
  3. จัดให้มีองค์กรของรัฐที่เหมาะสมเพื่อตรวจตรา ดูแล และประสานงานการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค

สิทธิของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติ มีอะไรบ้าง

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ข้อ ดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โลกดิจิทัลเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้ง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ) โดยได้กำหนดหลักสิทธิการคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ มี 7 ข้อ ดังนี้

  1. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจ โดยข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ
  2. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้
  3. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
  4. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
  5. สิทธิในความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อ
  6. สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการบริหารจัดการสื่อ
  7. สิทธิในการได้รับการเยียวยาความเสียหายเมื่อได้รับความเสียหาย

โดนเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางใดได้บ้าง

  • สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ เว็บไซต์ ocpb.go.th
  • มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเว็บไซต์ consumerthai.org
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเว็บไซต์ fda.moph.go.th 
  • สำนักงานแพทยสภา เว็บไซต์ tmc.or.th 
  • สำนักงาน กสทช. สายด่วน 1200 หรือสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (รส.) โทร. 02-271-0151 ต่อ 455 หรือทางเว็บไซต์ bcp.nbtc.go.th 
  • สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เว็บไซต์ mrd-hss.moph.go.th 
  • กรมการค้าภายใน ที่สายด่วน 1569 หรือเว็บไซต์ dit.go.th 
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 หรือเว็บไซต์ dbd.go.th 
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วน 1186 หรือเว็บไซต์ oic.or.th 
  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เว็บไซต์ tisi.go.th 
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สายด่วน 1348 หรือเว็บไซต์ bmta.co.th 
  • กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เว็บไซต์ dopa.go.th 
  • ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สายด่วน 1213 หรือเว็บไซต์ 1213.or.th 

 

ข้อมูล : สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง