รีเซต

ออราเคิลแนะภาคธุรกิจปรับตัว รับมือเทคโนโลยีอนาคต ชี้ AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก

ออราเคิลแนะภาคธุรกิจปรับตัว รับมือเทคโนโลยีอนาคต ชี้ AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก
มติชน
19 มกราคม 2565 ( 17:18 )
54
ออราเคิลแนะภาคธุรกิจปรับตัว รับมือเทคโนโลยีอนาคต ชี้ AI ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก

ข่าววันนี้ 19 มกราคม 2565 – เปิดรับศักราชใหม่ ปี 2022 ภาคธุรกิจทั่วโลกมักมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการปฏิบัติการต่างๆ ที่จะนำพาให้ธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างสูงสุด ออราเคิล คอร์ปอเรชัน ประเทศไทย จึงเผย 5 กุญแจสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับอนาคตและสามารถปรับตัวให้องค์กรอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “เทรนด์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานมาเป็นระบบดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นและเป็นกระแสในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงองค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต่างก็ตอบรับกระแสและดึงเทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังหันเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถตอบโจทย์การใช้งานแอปพลิเคชั่นออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ออราเคิลในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านระบบคลาวด์และโซลูชั่นเพื่อธุรกิจและวิสาหกิจแบบครบวงจร พร้อมร่วมมือเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับธุรกิจและหน่วยงานทุกประเภท เพื่อเคียงข้างสร้างสรรค์การเติบโต ส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร และตอบรับความต้องการของผู้ใช้งานในเมืองไทยต่อไปอย่างเต็มศักยภาพ และในนามออราเคิล ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ทั่วโลกได้ออกมาเผยถึง 5 กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีแห่งปี 2022 พร้อมกับข้อแนะนำที่จำเป็นจากผู้บริหารระดับสูงทั่วเอเชียแปซิฟิก โดย นายคริส เชลลิอาห์ รองประธานกรรมฝ่ายกลยุทธ์ลูกค้า แผนกข้อมูลและการพัฒนาธุรกิจ ออราเคิล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น”

 

1. คณะกรรมการต้องเปลี่ยนแปลงการลงทุนกับระบบคลาวด์อย่างจริงจัง


ข้อมูลของ Statista ระบุว่า ทั่วโลกจะใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลราว 1.78 ล้านล้านดอลลาร์ไปกับเทคโนโลยีคลาวด์และแผนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลรูปแบบอื่น ๆ ในปี 2022

 

คำถามก็คือ บริษัทและหน่วยงานรัฐบาลกำลังลงทุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ หรือพวกเขาแค่กำลังทำงานด้านดิจิทัลแบบผักชีโรยหน้าเพื่อให้เกิดสิ่งที่ Foresster เรียกว่า “ความซ้ำซากเรื่องดิจิทัล”?

 

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบคลาวด์ รวมถึงเทคโนโลยีอัตโนมัตินั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยในภาคเอกชนนั้น เราพบว่าอุตสาหกรรมทุกประเภทจะมีองค์กรอย่างน้อยหนึ่งรายที่ใช้ระบบดิจิทัลทำงานบนคลาวด์ ปรากฏขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นแล้ว โดยพบเห็นทั้งในธุรกิจค้าปลีก สื่อ ความบันเทิง การท่องเที่ยว การศึกษา ลอจิสติกส์ บริการทางการเงิน เฮลธแคร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการขนส่ง

 

ยกตัวอย่างเช่น Singtel หนึ่งในกลุ่มบริษัทการสื่อสารชั้นนำของเอเชีย ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัปมูลค่าสูงอย่างแกร็บ (Grab) เพื่อนำเสนอบริการธนาคารให้แก่ผู้ค้าปลีกและลูกค้าองค์กรในสิงคโปร์ จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าในอนาคตเราจะได้เห็นความร่วมมือด้านดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นในภาคธุรกิจอื่นๆ

 

แน่นอน องค์กรที่เล็งเห็นว่าคลาวด์คือสิ่งกอบกู้วิกฤติและสร้างความสะดวกสบายย่อมจะได้รับผลตอบแทนมหาศาล เช่นเดียวกับที่ Gartner เรียกคลาวด์ว่า “ตัวเสริมแรงแบบทวีคูณ” เพราะถือเป็นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนขนาดได้ ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและการเติบโตในระยะยาว

 

เราเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ว่าระบบคลาวด์มอบอิสระแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคนิคให้หลุดพ้นจากงานที่น่าเบื่ออย่างการดูแลความปลอดภัยหรือการบำรุงรักษาระบบ ช่วยให้พวกเขามีเวลาใช้ความคิดเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีความโดดเด่นและสร้างผลกำไรได้มากกว่า นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าคลาวด์ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผ่านการใช้เครื่องมือที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning: ML) รูปแบบใหม่ ช่วยให้ผู้ใช้งานที่มีความเข้าใจสามารถสั่งงานได้เพียงปลายนิ้วเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจขององค์กร

 

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2022 เราจึงคาดหวังว่าคณะกรรมการของบริษัทต่าง ๆ จะขอให้ฝ่ายบริหารนำเสนอเอกสารเรื่องการลงทุนกับระบบคลาวด์เพื่อช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว

 

2. การเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์คือขุมพลังสู่การเป็นวิสากิจดิจิทัลชั้นนำ


เนื่องจากวิสาหกิจส่วนใหญ่มีปริมาณข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์เป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์และเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านั้น รวมถึงยกระดับการตัดสินใจ และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานในขั้นต่อไปได้

 

ทว่าวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขั้นตอนทดลองใช้งานระบบการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็คือการแสวงหาทักษะที่จำเป็น

 

เนื่องจากบริษัทและหน่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการรวบรวมบุคลากรระดับด็อกเตอร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทางเลือกอื่นที่ทำได้คือการสร้างทีม MLOps (Machine Learning + Operations) ที่มีขนาดเล็กลงและเน้นการทำงานเฉพาะด้าน โดยจะคล้ายกับทีม DevOps (Development Operations) ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นมากกว่า ซึ่งแน่นอนทีมดังกล่าวประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงนักพัฒนา และผู้ปฏิบัติงานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนา ดูแลรักษา และปรังปรุงประสิทธิภาพโมดุลระบบการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์

 

นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังเริ่มตระหนักถึงมูลค่าของความได้เปรียบที่เกิดจากการใช้คลาวด์และแอปพลิเคชั่นที่มีอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์มาแบบพร้อมสรรพ

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาบัน Foresster ทำนายว่าองค์กร 1 ใน 5 จะลงทุนมากขึ้นเป็นสองเท่ากับสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์ภายใน (AI inside)” ซึ่งก็คือปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องที่ฝังอยู่ในระบบและขั้นตอนการปฏิบัติงานขององค์กร และภายในปี 2025 ทาง Gartner ยังทำนายว่าวิสาหกิจ 10% ที่ติดตั้งระบบวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างน้อย 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 90% ที่เหลือซึ่งไม่ได้ติดตั้ง ดังนั้นรีบสร้างความได้เปรียบตั้งแต่วันนี้ย่อมดีกว่า

 

3. ลูกค้าจะประเมินบริษัทของคุณด้วยมาตรฐานด้านความยั่งยืน


ไม่ว่าในการซื้อสินค้าและบริการ การพิจารณาถึงนายจ้างในอนาคต หรือแม้แต่การลงทุนสต็อกสินค้า ผู้คนในทุกช่วงวัยเริ่มมีการประเมินแนวคิดและพันธะสัญญาด้านความยั่งยืนของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ วิสาหกิจต่างๆ ก็กำลังทำเช่นเดียวกับซัพพลายเออร์และคู่ค้าทุกราย นั่นคือการพยายามทำให้องค์กรของตนเองมีความน่าเชื่อถือในด้านการลดอัตราการปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนวิธีการกลบฝังขยะ และการหันมาใช้แนวทางการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด

 

ในปี 2022 การที่ธุรกิจต่างๆ ต้องวางแผนและดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเสมือนคำสั่งสูงที่จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก สถาบัน Foresster รายงานว่ากลุ่มบริษัทในรายชื่อ Fortune Global 200 กว่า 92% ในอเมริกาเหนือ และ 81% ในกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีการแต่งตั้งตำแหน่งผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ และตำแหน่งอื่น ๆ ในระดับบริหาร ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกมีตำแหน่งด้านนี้เพียง 26%

 

“ความพยายามด้านความยั่งยืนขององค์กรส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกถูกขับเคลื่อนด้วยการต้องปฏิบัติกฎหมายและแรงกดดันจากนักลงทุน ไม่ใช่การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงที่แท้จริง” สถาบัน Foresster ระบุ “แนวทางเช่นนี้จะไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก” และถือเป็นการหลอกลวงลูกค้าและบรรดาหุ้นส่วนที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

“การดำเนินงานที่แท้จริง” จำเป็นต้องให้วิสาหกิจมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานบางอย่างในธุรกิจของตนเองด้วย

 

4. นายจ้างที่ไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาสายอาชีพและการรับสมัครพนักงานหลังภาวะการแพร่ระบาดจะล้าหลังกว่าคนอื่น
การสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าระบุอย่างชัดเจนว่า การว่าจ้างและการรักษาพนักงานผู้มีทักษะถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของผู้บริหารระดับสูงทุกคน กระนั้น การลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าในปี 2022 นายจ้างจะตัดงานบางส่วนของพนักงานออกไป กล่าวคือ บริษัทจำเป็นต้องกระตือรือร้นมากขึ้นในการวางแผนเส้นทางอาชีพให้กับพนักงานที่มีคุณค่ามากที่สุด และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาในเรื่องสมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต ความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงาน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ หรือไม่ก็ต้องยอมเห็นพวกเขาเดินออกไปจากองค์กร

 

รายงาน 2021 AI@Work report by Oracle and Workplace Intelligence พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกล่าวว่าการแพร่ระบาดเป็นสาเหตุทำให้พวกเขารู้สึก “จมปลัก” และผลักดันให้พวกเขาต้องทบทวนอนาคตของตนเองอีกครั้ง ผลลัพธ์ก็คือพนักงานกว่า 84% ต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพการงานในปีหน้า 86% ไม่พึงพอใจกับการสนับสนุนด้านอาชีพการงานของนายจ้าง และ 91% กล่าวว่านายจ้างควรรับฟังความต้องการของพวกเขามากกว่า นอกจากนี้ 93% ของผู้ทำแบบสอบถามยังระบุว่าการแพร่ระบาดทำให้การสร้างสมดุลชีวิตและงาน สุขภาพจิต และความยืดหยุ่นในการทำงาน มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับพวกเขา

 

“วันนี้ พนักงานเริ่มลำดับสิ่งสำคัญแตกต่างไปจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด” ข้อมูลในรายงาน AI@Work ระบุ “ผู้คนเริ่มพิจารณาว่าบริษัทแบบไหนที่พวกเขาต้องการทำงานด้วย สิ่งที่พวกเขาต้องการในอาชีพการงานคืออะไร รวมถึงความสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี บริษัทจึงต้องนำเรื่องเหล่านี้มาทบทวนเพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่เหมาะสมสำหรับพนักงานหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด”

 

5. การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในซัพพลายเชนจะ “ไม่ปกติอีกต่อไป”


การแพร่ระบาดกดดันให้นักวางแผนซัพพลายเชนต้องประเมินลำดับความสำคัญเสียใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการบริหารซัพพลายเชน Supply Chain Management (SCM) ใหม่ล่าสุด ดังที่ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนแห่งออราเคิล เอริก ดอมสกี้ และ ไรอัน ซัมเรก กล่าวว่า “การไม่เคยปกติ” ได้กลายเป็น “ความปกติ” ไปแล้ว

 

ยกตัวอย่างเช่น การเติมสินค้าในคลังให้ “ทันเวลา” เคยเป็นแนวทางปฏิบัติงานที่ดีที่สุดในช่วงการก่อนแพร่ระบาด แต่ “สินค้าคงคลังในระดับที่ปลอดภัย” หรืออีกชื่อคือคลังสินค้าแบบ “เผื่อในกรณีฉุกเฉิน” กลับถูกพิจารณาให้เป็นความปกติรูปแบบใหม่

 

แม้เทคโนโลยีซัพพลายเชนอันซับซ้อนจะไม่สามารถป้องกันผลกระทบของตลาดจากปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

 

อย่างเช่นกรณีการแพร่ระบาดทั่วโลก แต่ก็ยังช่วยให้บริษัทมีจุดสมดุลของคลังสินค้าในระดับที่ปลอดภัยได้

 

เมื่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงจากการซื้อหน้าร้านมาเป็นระบบออนไลน์ บริษัทต่างๆ จึงต้องตระหนักและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น รวมถึงการวางแผนสำหรับ “ปรากฏการณ์ระลอกคลื่น (Ripple Effect)” ที่จะกระทบกับโรงงาน ศูนย์ข้อมูล และห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของบริษัท ผู้เชี่ยวชาญจากออราเคิลกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องใช้โซลูชั่นการวางแผนซัพพลายเชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจำลองสถานการณ์และสร้างการทำนายรูปแบบอุปสงค์ทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้ได้มากยิ่งขึ้น”

 

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งสำคัญเหล่านี้ทั้งในบริบทด้านผลกระทบ โอกาส และความท้าทายทางธุรกิจแล้ว ธุรกิจต่างๆ ในเมืองไทยและเอเชียจึงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูยุคสมัยแห่งเอเชียให้กลับมาเฟื่องฟูใหม่ได้อีกครั้ง

 

ข้อเสนอแนะของบทความนี้ยังสอดคล้องกับผลการดำเนินงานออราเคิลทั่วโลกในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานรายรับจากบริการคลาวด์และบริการสนับสนุนแบบไลเซนส์อยู่ที่ 7.55 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 6% จากปีก่อน โดยในปัจจุบัน ออราเคิลมีลูกค้า Fusion ERP 8,500 ราย ซึ่งมีการเติบโตของรายรับที่ 35% ลูกค้า NetSuite ERP 28,400 ราย มีการเติบโตของรายรับที่ 29% และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน Gen2 ก็กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยอดขายของการสมัครใช้งานแอปพลิเคชั่นอยู่ที่ 3.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 8% เมื่อพิจารณาในสกุลเงินคงที่ และเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

 

การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้ออราเคิลสามารถสร้างรายรับในปี 2564 ได้ที่ 10.36 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน เมื่อพิจารณาในค่าสกุลเงินคงที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง