รีเซต

หมอธีระ ให้คำแนะนำ 5 ข้อ ใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อโควิดยังคงอยู่?

หมอธีระ ให้คำแนะนำ 5 ข้อ ใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อโควิดยังคงอยู่?
TNN ช่อง16
17 มิถุนายน 2565 ( 08:26 )
100

วันนี้( 17 มิ.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 

โดยระบุว่า "...ใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อโควิดยังคงอยู่?...

ควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ระมัดระวังอยู่เสมอโดย

1. ติดตามสถานการณ์การระบาด เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการปฏิบัติตัว

2. ประเมินความเสี่ยงในชีวิตประจำวันว่าในแต่ละสถานที่ แต่ละกิจกรรมมีความเสี่ยงมากหรือน้อย เพื่อป้องกันการติดเชื้อของตนเองและไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

3. ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคโควิด-19 อยู่เสมอว่า แม้เป็นโรคประจำถิ่น แต่ติดเชื้อแล้วป่วยได้ ตายได้

4. พึงรับรู้ว่า หากติดเชื้ออาจทำให้เกิดความผิดปกติระยะยาวหรือภาวะ Long COVID ได้

5. การใส่หน้ากากอนามัยยังเป็นอาวุธสำคัญที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ"


พร้อมกันนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังได้อัปเดตสถานการณ์ทั่วโลกด้วยว่า "เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 504,270 คน ตายเพิ่ม 1,011 คน รวมแล้วติดไป 542,937,367 คน เสียชีวิตรวม 6,337,534 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ไต้หวัน ฝรั่งเศส อิตาลี และบราซิล

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 73.83 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 55.88

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัปเดตความรู้ Long COVID

1. ลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตัน การติดเชื้อไวรัสระยะยาว และระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ คือสามสาเหตุหลักที่อธิบาย Long COVID

วารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก Science ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอบทความสรุป 3 ทฤษฎีหลักที่อธิบายการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ในปัจจุบัน ได้แก่ การเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตันในระบบต่างๆ ของร่างกายภายหลังจากการติดเชื้อ (Tiny blood clots), การคงอยู่ของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย (Viral persistence), และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง (Haywire immune system)

2. ผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการทางระบบประสาทนั้น มีเพียง 1/3 ที่หายใน 6 เดือนShanley JE และคณะจากมหาวิทยาลัย University of California, San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอผลการศึกษาติดตามผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการทางระบบประสาท จำนวน 56 คน และติดตามดูแลไปตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึงตุลาคม 2564 สาระสำคัญคือ มีเพียง 33.3% ที่หายในระยะเวลา 6 เดือน

...ความรู้ทางการแพทย์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID เป็นเรื่องสำคัญมาก และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต การดูแลตนเอง และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ย้ำดังๆ ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขทางการที่รายงานไม่ได้สะท้อนสถานการณ์การติดเชื้อที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด ความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตมีมาก การใส่หน้ากากคืออาวุธสำคัญที่สุดที่จะป้องกันตัวของทุกคน ใช้หน้ากากเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายให้คุ้นชินเป็นวิถีชีวิตใหม่ จะช่วยให้ลดความเสี่ยง และมีโอกาสประคับประคองให้เรารอดปลอดภัยจนกว่าจะผ่านสถานการณ์ระบาดทั้งโลกไปด้วยกัน


อ้างอิง

1. Couzin-Frankel J. Clues to Long COVID. Science. 16 June 2022.

2. Shanley JE et al. Longitudinal evaluation of neurologic-post acute sequelae SARS-CoV-2 infection symptoms. Annals of Clinical and Translational Neurology. 15 June 2022."





ที่มา Thira Woratanarat

ภาพจาก AFP/รอยเตอร์/Thira Woratanarat 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง