รีเซต

จีน-สหรัฐฯ ยอมถอยคนละก้าวคุยกัน

จีน-สหรัฐฯ ยอมถอยคนละก้าวคุยกัน
TNN ช่อง16
15 ธันวาคม 2564 ( 12:17 )
44
จีน-สหรัฐฯ ยอมถอยคนละก้าวคุยกัน

จุดเริ่มต้นของชนวนความขัดแย้งระลอกล่าสุด หนีไม่พ้นเรื่องที่สหรัฐฯ ยังตั้งข้อสงสัยเรื่องสมมติฐานว่าโควิด-19 มีแหล่งต้นตอและที่มาจากประเทศจีน กล่าวหาว่าจีนปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จากนั้นลามไปต่อในประเด็นที่จีนเข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายในฮ่องกงและไต้หวัน, การแสดงแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้, การที่จีนมีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ถึงขั้นที่จีนถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์


ยังไม่นับเรื่องเก่าที่สหรัฐฯ กล่าวหาจีนมานานในเรื่องเอาเปรียบทางการค้าจนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาลในแต่ละปี นำไปสู่การดำเนินมาตรการกีดกันบริษัทและธุรกิจจีน รวมไปถึงกล่าวหาจีนว่าไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนด้วยการเดินหน้าใช้พลังงานจากถ่านหินต่อไป แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเป็นชาติที่ปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก


---สหรัฐฯ ยิงมา จีนก็โต้กลับ---


ขณะที่จีนเองก็ตอบโต้สหรัฐฯ มาตลอดเช่นกันว่า มักจะเข้ามายุ่มย่ามก้าวก่ายกิจการของจีนในฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน กล่าวหาจีนในประเด็นทะเลจีนใต้และสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอุยกูร์ทั้งที่ไม่เป็นความจริง รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่ว่าสหรัฐฯ จะออกมากล่าวหาจีนในเรื่องใด จีนก็จะออกมาตอบโต้อย่างทันควันและกล่าวหาสหรัฐฯ กลับไปอย่างรุนแรงไม่แพ้กันมาตลอด


สงครามน้ำลายระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มาจนถึงรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ยังคงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อจีนนัก จนหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า สองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนจะกลับมาคืนดี หรืออย่างน้อยก็ลดความขัดแย้งที่ร้อนแรงลงได้บ้างหรือไม่


---จากบาดหมางสู่การหันหน้าประชุม---


การประชุมระหว่างกันครั้งแรกที่หลายฝ่ายจับตามอง คือการประชุมระหว่างผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ที่รัฐอะแลสกาเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งก็จบลงแบบไม่สวยหรู เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลดราวาศอก แต่กลับปะทะคารมกันอย่างดุเดือด ต่างแสดงจุดยืนที่ไม่ยอมประนีประนอมกันตลอดการประชุมสองวัน ที่สุดท้ายจบลงแบบไร้ข้อสรุป


อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนตุลาคม เริ่มมีสัญญาณถึงการกลับมาพูดคุยกันรอบใหม่ หลังผู้แทนสหรัฐฯ กับจีนได้ตกลงที่จะจัดการประชุมเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก่อนสิ้นปีนี้


จากนั้นในเดือนกันยายน ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ต่อสายหารือกันทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เรื่องความรับผิดชอบของสองประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่บานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง


---ประชุมสุดยอดสี-ไบเดน---


จนในที่สุด ไบเดนและสี จิ้นผิง ก็ได้จัดการประชุมสุดยอดผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่สี จิ้นผิง บอกว่าเป็นการได้พบหน้าเพื่อนเก่าอีกหน


โดยตลอดการพูดคุยนานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เปิดอกเจรจากันอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งร้อนแรงระหว่างกัน ด้วยความเข้าใจดีว่า หนีไม่พ้นที่ทั้งสองประเทศจะมีความเห็นในหลากหลายประเด็นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการที่สองประเทศสามารถจัดการและหลีกเลี่ยงความตึงเครียดระหว่างกัน


ผู้นำจีนยังย้ำว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า สิ่งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือการที่จีนและสหรัฐฯ จะต้องหาหนทางในการอยู่ร่วมกัน จึงหวังอย่างยิ่งว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะแสดงบทบาทในฐานะผู้นำทางการเมืองและผลักดันนโยบายสหรัฐฯ ต่อจีน ให้กลับคืนสู่หนทางที่ถูกต้อง


ส่วนไบเดนบอกว่า ความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ คือการที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะสามารถแข่งขันกันได้โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง


---ขัดแย้งในหลายเรื่อง แต่ก็ยอมร่วมมือ---


หลายฝ่ายมองว่า การประชุมนี้ถือเป็นการประชุมที่เป็นรูปธรรมที่สุดระหว่าง 2 ฝ่าย นับแต่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา


อีกทั้งยังได้เน้นย้ำความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำทั้งสอง เพื่อพยายามบรรเทาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เกิดทวีความรุนแรงขึ้นในระยะหลังนี้ ซึ่งในเวลาต่อมา จีนและ


สหรัฐฯ ยังสร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาคมโลก ด้วยการประกาศให้คำมั่นร่วมกัน ในช่วงโค้งสุดท้ายของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในทศวรรษนี้


นี่อาจมองได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองมหาอำนาจของโลก ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกันบ้างหลังจากนี้

—————

แปล-เรียบเรียง: สันติ คล้ายใยทอง

ภาพ: Dimitar DILKOFF / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง