คืบหน้าซากตึก สตง.ถล่ม เหลือความสูง 13 เมตร หวังจบภารกิจใน เม.ย.นี้

วันนี้ (17 เม.ย.68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) แถลงถึงความคืบหน้า สถานการณ์ อาคารสตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ว่า ตั้งแต่เมื่อวาน(16 เม.ย.68)จนถึงวันนี้ หัวใจหลักของการทำงานคือการลดความสูงของยอดซากอาคาร ซึ่งเมื่อวานนี้ ยอดซากอาคารมีความสูงประมาณ 14 เมตร และเมื่อเช้านี้เหลือประมาณ 13 เมตร จากของเดิมสูงกว่า 26 เมตร ซึ่งความสูงที่ลดลงทำให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยได้มีการปรับยุทธวิธีด้วยการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทีมอาสา ทหาร และกทม. เร่งดำเนินการตัดเหล็ก โดยการใช้แก๊สซึ่งสามารถทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ไปได้ ในหลายจุดพร้อมกัน
นอกจากนี้มีการเพิ่มจำนวนรถในการขนเศษปูนและเหล็กจากซากอาคาร จากเดิม 14 คัน โดยเพิ่มเติมอีก 8 คัน ทำให้เมื่อวานนี้สามารถลำเลียงออกไปได้กว่า 170 เที่ยว จากเดิมได้วันละประมาณ 100 เที่ยว ซึ่งการตัดเหล็กได้รวดเร็วและขนซากออกไปจากพื้นที่ได้รวดเร็ว ทำให้หน้างานสามารถรุดหน้างานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งลำดับต่อไปต้องเตรียมสถานที่ในการทิ้งซากอาคารไปพักไว้ ให้รองรับกับจำนวนเที่ยวรถบรรทุกและปริมาณเศษปูนและเหล็กที่ขนไปให้สอดคล้องกันด้วย
ในส่วนของมาตรการเยียวยา ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ฝ่ายโยธาของสำนักงานเขต ได้ขอนัดวันในการเข้าไปดูสถานที่ เพื่อประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคารและบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ติดปัญหาและอุปสรรคคือ เจ้าของบ้านไม่อยู่ตามนัดหมายเนื่องจากวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ จึงขอความร่วมมือหากเจ้าของบ้านกลับมาแล้วให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนัดหมายเข้าดูสถานที่ต่อไป
ผอ.สปภ. กล่าวเสริมว่า เดิมสาเหตุที่ทำให้หน้างานล่าช้า คือ โครงเหล็กอาคารที่เป็นอุปสรรค แต่ปัจจุบันสามารถตัดโครงเหล็กได้รวดเร็วขึ้นเนื่องจากมีทีมกระจายกำลังกันใช้แก๊สตัดเหล็ก ในหลายๆ จุด พร้อมกัน แต่อุปสรรคในขณะนี้ คือ ต้องเร่งระบายซากเหล็กและปูนออกจากพื้นที่ให้รวดเร็วให้ได้ เพื่อรองรับซากอาคารชิ้นใหม่ที่เติมเข้ามาตลอดเวลาจากการทำงานที่รุดหน้ารวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยภาพรวมความคืบหน้ายังเป็นไปตามกำหนดเดิมคือต้องเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน เมษายนนี้
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย.68 เวลา 10.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 50 ราย นอกจากนี้สำนักอนามัย กทม. ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตจตุจักร ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ เพื่อวางแผนในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม และดูแลสุขอนามัย ณ บริเวณพื้นที่ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เขตจตุจักร
ซึ่งสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุขได้ดำเนินการใส่สารเคมี โซเดียมไฮโปรออไรด์ในพื้นที่ที่มีน้ำขัง เพื่อบำบัดน้ำก่อนลงสู่ที่สาธารณะ พร้อมทั้งฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงวันและยุง รวมทั้งใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุง ทั้งนี้จะมีแผนดำเนินการต่อเนื่องในทุกวันพุธ และวันเสาร์ จนถึงเดือนพ.ค.68
นอกจากนี้ สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมได้เฝ้าระวังและตรวจสอบดิน รวมทั้งการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินที่ท่วมขังบริเวณตึกถล่ม และจะประสานกรมควบคุมมลพิษ เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำเสียและประสานสำนักการระบายน้ำ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำเสียไปตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาต่อไป