ยังควรแบ่งเงินลงทุนใน Bitcoin อยู่หรือไม่? หลังตลาดคริปโทฯ ร่วงหนัก
นับตั้งแต่ปี 2563 หลายสินทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 แต่มีหนึ่งสินทรัพย์ที่มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น นั่นคือ Bitcoin รวมถึง Cryptocurrency เหรียญอื่นด้วย ประกอบกับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศและต่างประเทศ ต่างเริ่มมีโครงการเกี่ยวกับ Cryptocurrency ออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการรับชำระเงิน การเข้าลงทุน หรือแม้กระทั่งการออก Cryptocurrency ของตัวเอง สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับที่เพิ่มขึ้น จนทำให้มีนักลงทุนหลายคนเปลี่ยนมุม
มองและกลับมาให้ความสนใจ
แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ มีปัจจัยเชิงลบหลายปัจจัยเข้ามากดดันตลาด ทั้งการที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ประกาศงดรับชำระเงินด้วย Bitcoin จากความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามสถาบันการเงินให้บริการเกี่ยวกับ Cryptocurrency จนทำให้นักลงทุนเริ่มเกิดความสงสัยว่า “ยังควรแบ่งเงินลงทุนใน Bitcoin หรือไม่?” นี่เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนหรือไม่ มีสิ่งใดที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญอีกบ้าง พร้อมทั้งผลการทดสอบย้อนหลัง เพื่อดูว่าหากแบ่งเงินลงทุนใน Bitcoin แล้วพอร์ตการลงทุนจะเป็นอย่างไร
หากแบ่งเงินลงทุนใน Bitcoin จะเป็นอย่างไร?
ผลการทดสอบที่เราทดสอบมานั้น แบ่งเป็น 2 พอร์ตการลงทุน เงินลงทุนเริ่มต้นเท่ากันที่ 100,000 บาท ใช้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 – 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีความแตกต่างกันที่น้ำหนักในการลงทุนใน Bitcoin รายละเอียดดังต่อไปนี้
พอร์ตที่ 1 นำเงินลงทุนใน Bitcoin 100% พบว่า ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนของเราจากเงิน 1 แสนกลายเป็น 10 ล้านบาทภายใน 6 ปี (เส้นสีฟ้า) และมี Maximum Drawdown -83.04% (เส้นสีส้ม) หรือพูดง่าย ๆ ว่าช่วงเวลาที่พอร์ตเราลดลงสูงสุดคิดเป็น 83.04% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นพอร์ตที่ 2 แบ่งเงินลงทุนใน Bitcoin 10% และถือเงินสด 90% พบว่า ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนของเราจากเงิน 1 แสนกลายเป็น 1.9 ล้านบาทภายใน 6 ปี (เส้นสีฟ้า) และมี Maximum Drawdown -15.11% (เส้นสีส้ม) แต่อย่าลืมว่า เรายังไม่ได้มีการจัดการกับเงินสด 90% ที่เหลืออยู่เลย
จากการทดสอบเห็นได้ชัดว่า นอกจากการเลือกสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในการลงทุน นั่นคือ การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุน เพราะสัดส่วนในการถือครองมีผลกระทบโดยตรงต่อพอร์ตการลงทุน ซึ่งเราควรออกแบบพอร์ตการลงทุนให้ตอบโจทย์ผลตอบแทนที่ต้องการและเหมาะกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ด้วย
การปรับตัวลงของ Bitcoin เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
ไม่ว่าจะสินทรัพย์ใด เมื่อมีการปรับตัวขึ้นแล้ว การปรับตัวลงก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เป็นไปตามความต้องการซื้อและความต้องการขายในสินทรัพย์นั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้
(ภาพแสดง จำนวนบัญชีที่ถือครอง Bitcoin แบ่งแยกตามต้นทุนที่ถือครอง, IntoTheBlock)
จากภาพ เป็นข้อมูลอ้างอิง ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 จะเห็นได้ว่า ราคา Bitcoin ที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีบัญชีอีกประมาณ 76% ที่ยังคงมีกำไร เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครทราบได้อย่างแน่ชัดว่า หากราคามีแนวโน้มปรับตัวลงไปมากกว่านี้ นักลงทุนกลุ่มนี้จะทำอย่างไรต่อไป และยิ่งไปกว่านั้นพบว่า มีบัญชี 20% ที่มีทุนสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน
หากเรามอง Bitcoin ในแง่มุมของการลงทุนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงประโยชน์อื่น ๆ พบว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน มีเพียงผลตอบแทนที่เป็นส่วนต่างราคา (Capital gain) เท่านั้น เว้นแต่นักลงทุนสามารถเพิ่มโอกาสการได้รับผลตอบแทนในรูปแบบอื่น เช่น โปรแกรม ZipUp, ZipLock จากทาง Zipmex (รายละเอียดเพิ่มเติมศึกษาได้ที่เว็บไซต์ของทาง Zipmex) ดังนั้น การเลือกและวางแผนกลยุทธ์ในการเข้าลงทุน Bitcoin จึงเป็นสิ่งสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา เป็นสิ่งมักได้ยินการออกมาเตือนเช่นนี้อยู่เสมอ และอาจยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนอาจยังไม่กล้าตัดสินใจกับสินทรัพย์ประเภทนี้ แต่อย่าลืมว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวอยู่แล้ว และด้วยข้อดีของตลาด Cryptocurrency ที่มีรูปแบบของตลาดแตกต่างไปจากสิ่งที่นักลงทุนคุ้นเคย เช่น เปิดทำการ 24/7 หรือ 24 ชั่วโมง 7 วัน, การไม่มีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคา สิ่งเหล่านี้อาจทำให้พฤติกรรมของราคาเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
และนอกจาก Bitcoin แล้ว ในโลกของ Cryptocurrency ยังมีเหรียญอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เกิดขึ้นตามแต่วัตถุประสงค์ในการสร้างเหรียญ หากเริ่มต้นศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งใหม่ อาจเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการลงทุนของเราได้ในอนาคต
กล่าวโดยสรุป ควรแบ่งเงินลงทุนใน Bitcoin ดีหรือไม่หรือจัดเต็มในวินาทีแรกที่เข้าซื้อเลย ? คำตอบอาจขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อสินทรัพย์นั้น และความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ นอกจากการเลือกสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนแล้ว นั่นคือ การจัดพอร์ตการลงทุน ซึ่งหมายรวมถึง การจัดสรรเงินลงทุน กลยุทธ์ในการเข้าซื้อ และกลยุทธ์ในการถือครอง เพราะจะมีผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนโดยตรง แต่จากความเห็นส่วนตัวการค่อย ๆ สร้างพอร์ตให้เติบโตอย่างยั่งยืนดีกว่าเติบโตแบบหวือหวา มาแล้วหายไป ฉะนั้นการแบ่งเงินบางส่วนมาเพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ