รีเซต

เปิดที่มา "กระบอกตั๋ว" อาวุธคู่กายกระเป๋ารถเมล์กับกฎ "ห้ามยืม ห้ามห่างตัว ห้ามทำตก"

เปิดที่มา "กระบอกตั๋ว" อาวุธคู่กายกระเป๋ารถเมล์กับกฎ "ห้ามยืม ห้ามห่างตัว ห้ามทำตก"
TNN ช่อง16
25 พฤศจิกายน 2564 ( 20:05 )
554
เปิดที่มา "กระบอกตั๋ว" อาวุธคู่กายกระเป๋ารถเมล์กับกฎ "ห้ามยืม ห้ามห่างตัว ห้ามทำตก"

วันนี้ (25 พ.ย.64) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พาไปทำความรู้จัก "กระบอกตั๋ว" อาวุธคู่กายของพนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง หรือที่มักจะเรียกกันว่า "กระเป๋ารถเมล์" โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก "BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" ระบุว่า

"แก๊ปๆ....แก๊ปๆ....มีตั๋วหรือยังค๊า" เสียงที่คุ้นเคยของผู้โดยสารรถเมล์  เชื่อว่าสมัยที่พวกเรายังเป็นเด็กต้องเคยอยากจะถือกระบอกตั๋ว ที่ส่งเสียงดังแก๊ปๆ แบบพี่กระเป๋ารถเมล์บ้างอย่างแน่นอน วันนี้แอดมินจะมาชวนคุยเรื่องกระบอกตั๋วที่กระเป๋ารถเมล์ใช้เป็นอุปกรณ์ในการเก็บเงินค่าโดยสารกัน

กระบอกตั๋วเริ่มใช้ครั้งแรกกับกระเป๋ารถเมล์ขาวของบริษัท นายเลิศ จำกัด เพื่อใช้เก็บตั๋วโดยสาร (ตั๋วม้วน) เพียงอย่างเดียว ส่วนเงินสดจะเก็บไว้ในกระเป๋าสะพาย ปัจจุบันเพื่อความสะดวกกระเป๋ารถเมล์ จึงใส่ทั้งตั๋วและเหรียญไว้ในกระบอกตั๋ว  


ส่วนวัสดุที่ใช้ผลิตกระบอกตั๋วในยุคของบริษัท นายเลิศ ทำจากทองเหลือง แต่ในยุคปัจจุบันผลิตจากสังกะสี ซึ่งมีราคาไม่แพง แต่ไม่คงทน ผุง่าย เพราะโดนเหงื่อจากมือของกระเป๋ารถเมล์ขณะใช้งาน

ต่อมาจึงมีการนำสแตนเลสมาผลิตเป็นกระบอกตั๋ว ซึ่งมีราคาแพงกว่ากระบอกสังกะสี แต่มีน้ำหนักเบากว่าและทนทานกว่า (ถ้าไม่ทำกระบอกตกนะคะ) 

กระบอกทั้ง 2 ชนิด ยังคงใช้ทองเหลืองในการทำเป็นใบมีด เพื่อใช้ฉีกตั๋ว ซึ่งถ้าใช้ไปนาน ๆ ใบมีดก็จะทื่อ กระเป๋ารถเมล์จึงต้องพกกระดาษทรายไว้เพื่อลับทองเหลืองให้คมอยู่เสมอ


โดยปกติแล้วกระเป๋ารถเมล์ทุกคน จะมีกระบอกตั๋วส่วนตัว มีการตกแต่งลวดลายตามสไตล์ของแต่ละคน เช่น การติดสติกเกอร์ หรือ เจาะกระบอกเป็นลวดลาย เป็นต้น เพื่อให้รู้ว่าอันไหนเป็นกระบอกของฉัน!     

แต่ละคนก็จะพกติดตัวไว้ตลอดเวลาเหมือนอาวุธคู่กายของพี่ๆ เขาเลย แต่กระบอกนี้พี่ๆ กระเป๋าจะไม่สามารถนำกลับบ้านได้ ซึ่งทุกอู่รถเมล์จะมีห้องสำหรับเก็บกระบอกโดยเฉพาะเลย


การดูแลรักษาอาวุธคู่กายนี้ ถือเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวที่พี่ๆ เขาหวงแหนมาก จะมีกฎเหล็กของชาวกระเป๋ารถเมล์อยู่ว่า... " ห้ามยืม - ห้ามห่างตัว - ห้ามทำตก"

ห้ามยืม คือ เมื่อเบิกตั๋วใส่กระบอกแล้ว ตั๋วแต่ละม้วนที่ถูกเบิกออกไปจะเป็นความรับผิดชอบของกระเป๋าแต่ละคน

ห้ามห่างตัว คือ ข้างในกระบอกนอกจากจะมีตั๋วโดยสารแล้วก็ยังมีเหรียญเงินทอนที่ใส่เตรียมไว้ก่อนออกให้บริการอีกด้วย

ห้ามทำตก คือ หากกระบอกตกจะทำให้กระบอกปิดไม่สนิท ตัดตั๋วไม่ขาด


ข้อมูลจาก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ภาพจาก AFP , BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง