รีเซต

"สุริยะ"ชี้อุตฯอาหารพลิกฟื้น คุมโควิดลามรง.สำเร็จ ลุ้นส่งออกทะลุ1ล้านลบ.

"สุริยะ"ชี้อุตฯอาหารพลิกฟื้น คุมโควิดลามรง.สำเร็จ ลุ้นส่งออกทะลุ1ล้านลบ.
มติชน
8 กันยายน 2564 ( 10:48 )
27
"สุริยะ"ชี้อุตฯอาหารพลิกฟื้น คุมโควิดลามรง.สำเร็จ ลุ้นส่งออกทะลุ1ล้านลบ.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564(มกราคม-กรกฎาคม) ว่า สถานการณ์พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปี2563 ผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 2.9% ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ในโรงงานจนเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชนชน อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง ยังกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร

 

 

นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะที่ตัวเลขส่งออกช่วง 7 เดือนแรกมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น4.5% ปัจจัยสนับสนุนมาจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะตลาดจีนขยายตัว 40%

 

 

 

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังโตแกร่งสวนทางโควิด-19 คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น 5% การส่งออกเพิ่มขึ้น 11% มูลค่า 427,300 ล้านบาท และทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น 4.5% การส่งออกมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1%  ปัจจัยหนุนมาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักที่ขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง มะพร้าวและกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน ประกอบกับสต็อกสินค้าอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท สำหรับปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นโควิด-19 ที่เข้าสู่สถานประกอบการ การกลายพันธุ์ของไวรัส ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง