รีเซต

เอกชน ชี้ราคาอาหารส่อพุ่งขึ้น 10% จี้รัฐลดต้นทุนผลิต-ภาษีน้ำมัน ก่อนธุรกิจทยอยเจ๊ง

เอกชน ชี้ราคาอาหารส่อพุ่งขึ้น 10% จี้รัฐลดต้นทุนผลิต-ภาษีน้ำมัน ก่อนธุรกิจทยอยเจ๊ง
ข่าวสด
7 กุมภาพันธ์ 2565 ( 21:36 )
35

เอกชน ชี้ราคาอาหารปีนี้ส่อพุ่งขึ้นถึง 10% จี้รัฐลดต้นทุนผลิต-ภาษีน้ำมัน ไม่ใช่แก้แค่ปลายทาง บีบผู้ประกอบการห้ามขึ้นราคา รายเล็กอยู่ไม่ได้จะทยอยเจ๊ง

 

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง รัฐบาลต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่มาล็อกแค่ปลายทาง หรือห้ามให้ขึ้นราคาสินค้า หรือกำหนดให้ขายในราคาที่ถูกลง เพราะสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีการปรับราคาขึ้นกว่า 10-20% เช่นกัน อาทิ น้ำมัน ปุ๋ย ยาฆ่าแลง เป็นต้น ส่วนราคากระป๋องขึ้นแล้วกว่า 40-50%

 

"ถ้าปล่อยปัญหานี้ไว้ ผู้ประกอบการรายเล็กจะทยอยปิดกิจลงเรื่อยๆ แน่นอน รัฐบาลควรลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อให้ราคาน้ำมันลดลง สินค้าต่างๆ ก็จะลดลงด้วย เพราะน้ำมันถือเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของราคาสินค้า คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 8-10%"

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง ถ้าเป็นเกษตรกรได้ปุ๋ยราคาถูก ได้ยาฆ่าแมลงราคาถูก แรงงานไม่ขึ้น ก็จะขายวัตถุดิบเราแบบราคาเหมือน 3 ปีที่แล้วได้ ผู้ผลิตก็เอามาแปรรูปได้ มองว่าทุกอย่างต้องไปดูตั้งแต้ต้นทาง ตอนนี้มาล็อกแค่ปลายทาง ล็อกให้ขายถูก ถ้าแฟร์ต้องล็อกตั้งแต่ต้นทาง

 

"ตอนนี้ในเชิงภาคนโยบาย สั่งง่าย สั่งให้ห้ามขึ้นก็จบ ทั้งที่จริงต้องไปทำตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดได้ ตอนนี้ถ้าบีบผู้ประกอบการห้ามขึ้นราคาไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ตั้งแต่ต้นทาง รายเล็กก็จะอยู่ไม่ได้และต้องปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น"

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านต้นทุนเพิ่ม แต่การปรับราคาขายเป็นเรื่องยาก ต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งทางด้านวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ส่งผลต่อการเงินของทางภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนรอบด้านไม่ไหวจนปิดกิจการ

 

"การปรับขึ้นราคาของต้นทุนสินค้าส่งผลต่อการแข่งขันสินค้าอาหารในตลาดโลก การขึ้นราคาส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่ และในอนาคตหากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการขึ้นราคาอาหารแน่นอน"

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนความท้าทายที่ส่งผลต่อการแข่งขันในการส่งออก คือ 1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กระทบการขนส่งสินค้าในท่าเรือในตลาดหลักทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป 2.การขึ้นราคาของวัตถุดิบทั้งห่วงโซ่การผลิต

 

3.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาได้ อาจยาวต่อเนื่องไปถึงหลังตรุษจีน ซึ่งขึ้นกับนโยบายของสายการเดินเรือแต่ละบริษัทว่าจะปล่อยตู้เรือออกมาหรือไม่ 4.ปัญหาด้านค่าระวางเรือ

 

5.มาตรการการคุมเข้มเรื่องโควิดของคู่ค้าอย่างจีนที่ประกาศใช้มาตรการซีโร่ โควิด กำหนดให้ตรวจพีซีอาร์ 100% และจำกัดด่านการค้าในการนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลต่อสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียนที่กำลังจะออกในอีก 2 เดือนข้างหน้า

 

6.มาตรการป้องกันโรงงานจากโควิด ทั้งตรวจเอทีเค ก็เป็นต้นทุน ค่าขนส่งทางบกที่ปรับขึ้นตามภาวะราคาน้ำมัน ต้นทุนแพ็กเกจจิ้งปรับขึ้นทั้งหมด และ7.ปัญหาด้านการแคลนแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง