รีเซต

พาณิชย์ แนะเจาะตลาด ขนมสุขภาพ Gen Z ในจีน หลังนิยมกินขนมแทนอาหารมื้อหลัก

พาณิชย์ แนะเจาะตลาด ขนมสุขภาพ Gen Z ในจีน หลังนิยมกินขนมแทนอาหารมื้อหลัก
ข่าวสด
17 กันยายน 2564 ( 13:35 )
118

ทูตพาณิชย์กวางโจว แนะเจาะตลาด “ขนมสุขภาพ”คน Gen Z ในจีน หลังพฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนกินขนมแทนอาหารมื้อหลัก

 

 

นางสาวอรนุช วรรณภิญโญ กงสุล (ฝ่ายการ พาณิชย์ )และ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสังคมวัยทำงานชาวจีนในปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาในการรับประทานอาหารมื้อเช้าของคนจีนรุ่นใหม่ วัย Gen Z(บุคคลที่เกิดระหว่างปี 2538-2552)ที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้แบรนด์อาหารเช้าจานด่วนเติบโตต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการ

 

 

ทั้งนี้เห็นได้จากสถิติร้านจำหน่ายซาลาเปาที่ขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาก อาทิ ร้านหมั่นโถว Babi (ปาปี่หมั่นโถว) มีมากกว่า 3,000 สาขา ร้านปาท่องโก๋และน้ำเต้าหู้ Yong He Da Wang (หย่งเหอต้าหวัง) มีมากกว่า 650 สาขา รวมไปถึงการวางจำหน่ายใน ร้านสะดวก อาทิ ร้าน 7-11, FamilyMart และร้านเฟรนไชส์ชั้นนำอย่าง แมคโดนัลด์, Starbucks ก็หันมาจำหน่ายอาหารเช้ากันมากขึ้น

 

 

“ชาวจีน Gen Z มีพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป หันมานิยมบริโภคขนมแทนอาหารมื้อหลักมากขึ้น วันละมากกว่าวันละ 3 มื้อ ทำให้ผลิตภัณฑ์สำหรับมื้ออาหารเช้า และขนมที่เป็นได้ทั้งอาหารมื้อหลักและอาหารว่าง มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะขนมสุขภาพ ที่ให้พลังงานต่ำกำลังมาแรง เพราะทานได้บ่อยและสามารถควบคุมน้ำหนักได้ ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมเพื่อสุขภาพ เพื่อเจาะตลาดส่งออกมายังจีน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า”

 

 

นางสาวอรนุช กล่าวว่าสำหรับผลิตภัณฑ์ขนมสุขภาพที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนในขณะนี้ เช่น ขนมปังสอดไส้ผสมแล็กติกแอซิดแบคทีเรีย, ขนมข้าวโอ๊ตอบกรอบ ที่เป็นได้ทั้งขนมขบเคี้ยวและหากผสมนมร้อนๆ ก็จะกลายเป็นซุปข้าวโอ๊ต ขนมประเภทเนื้อแผ่น ,โยเกิร์ต, ธัญพืช โปรตีนเวเฟอร์ เครื่องดื่มโปรตีน เป็นต้น

 

 

ทั้งผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูดีติดเทรนด์ ปลอดภัย และควรแสดงรายละเอียดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ขนมให้ชัดเจนเนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่นิยมนำส่วนประกอบและส่วนผสมของอาหารมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมถึงศึกษากฎระเบียบการนำเข้าต่างๆ ของอาหารที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เนื่องจากส่วนประกอบหรือส่วนผสมของอาหารบางชนิด อาทิสมุนไพรต่างๆ หรือสารอาหารบางชนิดอาจจัดเป็นอาหารเสริม ซึ่งมีกระบวนวิธีในการนำเข้าที่ซับซ้อนหรือจีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้า โดยผู้ประกอบการสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดรายการอาหารที่จีนอนุญาตให้ไทยนำเข้าได้ที่เว็บไซต์จากทางศุลกากรจีน http://43.248.49.223/index.aspx

 

 

อย่างไรก็ตาม จากสถิติแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Tmall ในปี 63 พบว่าประเภทของขนมที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดบนแพลตฟอร์มTmall คือ ขนมประเภทเค้ก มีมูลค่าตลาดคิดเป็น 17,440 ล้านหยวน รองลงมาคือ ขนมที่ทำจากวอลนัทและธัญพืชคิดเป็น 12,740 ล้านหยวน และขนมประเภทบิสกิตคิดเป็น 12,070 ล้านหยวน ตามลำดับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง